วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

ความรักกับนกเงือก

 โพรงรังนกกก บนต้นไม้สูงใหญ่ จากมุมมองระยะใกล

           ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เมื่อถึงวันที่ ๑๔ จะมีผู้คนให้ความสำคัญกับความรักกันทั่วโลก เป็นวาระในการแสดงความรักให้กันและกัน ซึ่งมีที่มาจากการระลึกถึงคุณความดี ความกล้าหาญและการเสียสละเพื่อความรักของนักบุญวาเลนไทน์ ผู้ซึ่งไม่ยอมเชื่อฟังจักรพรรดิ"คลอดิอุสที่ ๒"แห่งกรุงโรม ที่ออกกฏห้ามมิให้มีการแต่งงานเนื่องจากต้องการชายชาติทหารไปสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น จึงถูกลงโทษประหารตัดคอ เสียชีวิตลงในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค..๒๗๐  ตั้งแต่นั้นมาวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์จึงถูกจัดให้มีไว้เตือนเราให้รู้จักมอบ ความรัก ความเสียสละและมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ให้กันและกัน  ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ ความหมายและความเข้าใจต่อความรัก จะมีวิวัฒนาการและถูกตีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ความรักก็ยังทำให้คนเรามีความอ่อนโยนและกล้าหาญพอที่จะให้โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทีถูกฝังไว้ในเส้นทางที่วิวัฒนาการมาร่วมกัน หากขยับมุมมองมาที่ประสบการณ์ศึกษาธรรมชาติกับเด็กๆ การได้สังเกตุปรากฏการณ์กับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์นานาชนิดที่พบเจอ พฤติกรรมบางอย่างอาจตีความได้ว่าเป็นสัญชาติญาณการอยู่รอดของชีวิต แต่บางอย่างก็สามารถมองเห็นและรับรู้ได้ถึงความอ่อนโยนในพฤติกรรมสัมผัสซึ่งทำหน้าที่ตามระบบธรรมชาติ อันจะเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมนกเงือก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในบทบาทนักปลูกป่า และตัวแทนบ่งชี้ป่าสมบูรณ์ที่เด็กๆชาวควบกลำ้ธรรมชาติได้ทำความรู้จักกันมาเป็นอย่างดี
ภาพเพ้นท์ติ้งนกกกโดยดลและแดน

วันรักนกเงือก
          โดยทั่วไปหากนกเงือกได้จับคู่อยู่ด้วยกันแล้ว ก็จะอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต พ่อแม่นกจะช่วยกันเลี้ยงลูก ตัวผู้คอยปกป้องดูแลตัวเมียและลูกน้อยในโพรงรังบนต้นไม้ใหญ่ ตลอดจนคอยหาอาหารมาป้อนลูกจนโตพอที่จะออกจากรังอย่างปลอดภัย นกเงือกจึงเป็นตัวแทนแห่งความรักที่ยั่งยืนและการให้ที่เสียสละอย่างแท้จริง มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรักนกเงือกในประเทศไทย ก่อนที่จะถึงวันแห่งความรักหนึ่งวัน โดยที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกจะจัดให้มีกิจกรรม รณรงค์งานอนุรักษ์นกเงือก ณ.คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประจำทุกปี

พ่อนกกกกำลังคาบผลลูกไทรย้อยสีแดงส้ม

เฝ้าดูนกกก
          จากประสบการณ์ตรงที่จดจำได้ดี เมื่อครั้งกลุ่มครอบครัวควบกล้ำฯได้มีโอกาศไปเฝ้าดูศึกษาพฤติกรรมนกกก(นกเงือกขนาดใหญ่) ในพื้นที่วิจัยของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ณ.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  "แม่นกกกเข้าไปอยู่ในโพรง ๕-๑๐ วัน มันจะไข่ หลังจากไข่ประมาณ ๔๕-๕๐ วัน ไข่จะฟัก เมื่อไข่ฟักตัวเมียคือแม่จะอยู่กับลูกในโพรงอีกหนึ่งเดือน ถึงตอนนี้แม่นกกกจะจิกปากโพรงออกมาช่วยพ่อหาอาหารไปเลี้ยงลูก ลูกนกกกปิดปากโพรงขังตัวอยู่ข้างในอีกหนึ่งเดือน" คือคำบอกเล่าจากอาอ็อด (พิทยา ช่วยเหลือ) หนึ่งในทีมวิจัยนกเงือก ก่อนที่จะพาเราไปเฝ้าสังเกตุการณ์บันทึกพฤติกรรมนกกกหน้าโพรงรัง  พ่อนกกกต้องทำงานหนักอยู่ถึงสามเดือนจากการบินหาอาหารมาป้อนให้แม่และลูก และอีกหนึ่งเดือนที่พ่อแม่ช่วยกันหาอาหารมาเลี้ยงลูก รวมเวลาที่พ่อแม่นกกกให้การฟูมฟักลูกนกอยู่นานถึง ๔ เดือน

 แม่หน่อยนั่งหลับ แม่จิ๋มกับจิโร่ และแม่อิงอ่านหนังสือ
แดนนอนรอคอยกับเคนอ่านการ์ตูนไปพลางๆ

          แม่อิง แม่กั้ง จิโร่และเคน....แม่จิ๋ม แม่หน่อยและเคน ....ธาม พ่อแม็ก และอาอ็อด เข้าไปอยู่ในซุ้มบังไพรอย่างเงียบเชียบเรียบร้อยก่อนหกโมงเช้า เราเริ่มเฝ้าสังเกตุบันทึกข้อมูลการป้อนอาหารของพ่อนกเงือก ตั้งแต่เวลาการป้อนลำดับครั้งในการป้อน และชนิดของอาหาร ต้องสังเกตุให้แน่ชัดว่าเป็นสัตว์หรือลูกไม้ชนิดใด แม่ๆหลายคนช่วยกันส่องกล้องสองตาและจดบันทึก แม่กั้งสรุปผลบันทึกเท่าที่สังเกตุได้จากการบินมาป้อนหนึ่งครั้งแรก ลูกไทรป้อนครั้งละ ๒ ลูก ถึง ๕๓ ครั้ง ครั้งละ ๒ ลูกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ลูก  มีลูกยางโอนลูกดำๆป้อนให้ ๒ ครั้ง มีหนอนกับแมลงอีก ๙ แถมด้วย ไข่อีก ๒ ฟองซึ่งเดายากว่าจะเป็นไข่ของใคร

 ไทรย้อย

      ตาเสือเหลือง




      
          "นกจะป้อนเยอะตอนตั้งแต่เช้าประมาณตีห้าถึงแปดโมง พอสายๆถึงบ่ายสองจะค่อยๆลดน้อยลง" อาอ็อดบอกเล่าข้อมูลระหว่างที่นั่งรอรอบต่อไปของการบินมาป้อนอีกครั้ง ในการหาอาหารทั้งลูกไม้ป่า โปรตีนสัตว์และการบิน เฉลี่ยแล้วครั้งละประมาณ ๒๐ นาทีถึงครึ่งชั่วโมง จากการสังเกตุการณ์อยู่ไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง เราเฝ้ารอคอยและภาวนาให้พ่อนกหาอาหารมาพอเพียงต่อการเติบโตช่วงสุดท้ายก่อนที่จะออกบินสู่โลกอันกว้างใหญ่ สังเกตได้ว่าแม่นกกกออกจากโพรงรังมาแล้วเพราะได้เห็นนกกกทั้งพ่อและแม่ อยู่เคียงคู่ ไม่ห่างกัน



*ภาพวาดอาหารของนกเงือกโดยแม่หน่อย

          ภาระกิจอันน่าทึ่งเหล่านี้ เราไม่อาจสัมผัสรับรู้ได้หากไม่ได้ตามไปดูสืบค้นหาด้วยตาตัวเอง ในมุมมองส่วนตัวก็เชื่อว่ามันมีบางสิ่งที่มากกว่าวิวัฒนาการของสัญชาติญาณเพื่อการอยู่รอด นกเงือกอาจจะไม่รู้จักนิยามแห่งความรัก แต่ภาระกิจของพ่อแม่นกเงือกนั้นกระทำคุณให้ไม่เฉพาะแค่ส่งต่อชีวิตและเผ่าพันธ์นกเงือก มันเป็นการโอบอุ้ม ดูแลและเยียวยา โลกทั้งใบไว้ด้วยความรักที่ไม่เคยหวังผลตอบแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น