วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

บึ้งแคระ

สำรวจแมงมุมตามเส้นทางขึ้นน้ำตกโกรกอีดก น้าหมูมนุษย์แมงมุม และดล

          หลังจากที่แมงมุมถูกนำมาเล่าเรื่องไว้หลายตอนแล้ว ถึงคราวนี้ได้จังหวะเวลาพอดีกับน้าหมู...มนุษย์แมงมุม(ชวลิต ส่งแสงโชติ)มาเป็นผู้นำสำรวจแมงมุมโดยเฉพาะ บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่โกรกอีดก แม้ว่าที่นี่จะได้พบเจอแมงมุมบางชนิดกับน้าเกรียงมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เคยสำรวจเจอแมงมุมทารันทูร่า(บึ้ง)กันเลย เมื่อน้าหมูผู้มีความเชี่ยวชาญในการสำรวจแมงมุมเป็นพิเศษและมีภาระกิจในการสำรวจแมงมุมเป็นหลักอยู่แล้วด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาศที่ดียิ่ง แต่เนื่องด้วยลักษณะของพื้นที่เป็นโครงสร้างของภูเขาหินปูน และเส้นทางเลียบลำห้วยเป็นพื้นที่รกทึบและลาดชันเสียส่วนใหญ่ ดูท่าจะไม่สอดคล้องกับพื้นถิ่นอาศัยของบึ้งซึ่งมักขุดรูตามพื้นที่โล่ง ลานดิน ทุ่งหญ้า หรือผาดิน ที่มีแดดส่องถึงซึ่งไม่น่าจะใช่ที่โกรกอีดก แต่น้าหมูให้ข้อสังเกตุไว้ว่านอกจากบึ้งหรือทารันทูร่าไทยที่เพิ่งกำลังศึกษาอย่างเป็นระบบอยู่นี้ ยังมีบึ้งอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่มีการทำการศึกษาเลยในประเทศไทยนั่นคือ "บึ้งแคระ" ซึ่งมีรายงานการค้นพบอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปิน พม่า อินโดเนเซีย ยกเว้นไทยซึ่งยังไม่ได้มีรายงานการสำรวจ ประกอบกับถิ่นอาศัยของบึ้งแคระจะชอบอยู่ในที่เย็นชุ่มชื้น ขุดรูตามใต้ก้อนหินและขอนไม้ผุ  ซึ่งบนเส้นทางเดินเลียบลำห้วยน้ำตกโกรกอีดก น่าจะมีความเป็นไปได้สูงตามที่น้าหมูตั้งสมมติฐานและคาดหวังเอาไว้

ยังเขียวชะอุ่มชุ่มชื้น ลำห้วยโกรกอีดกมีลักษณะโครงสร้างเป็นภูเขาหินปูน

ใยขาว ทุกหนแห่ง แหล่งแมงมุม


ความชุ่มชื้นที่มืดครึ้ม
          ช่วงหน้าฝนของปีนี้ที่คาดว่าจะแล้งน้ำมาก แต่ที่ลำห้วยโกรกอีดกยังคงความชุ่มฉ่ำเขียวชะอุ่มคงเดิมเหมือนทุกปี  ในวันที่ท้องฟ้าถูกปกคลุมด้วยเมฆฝน ชายป่าเขียวรกทึบยังเปิดโอกาศให้เราแทรกตัวเดินเข้าไปตามเส้นทาง เมื่อถึงทางเดินซุ้มอุโมงค์พุ่มไม้ภายในจึงมืดครึ้ม ตามพื้นปกคลุมไปด้วยใบไม้แห้งร่วงหล่นทับถมกันหนาแน่นถูกย่อยสลายกลายเป็นดินปุ๋ยที่ชุ่มชื้น มีขอนไม้ใหญ่ที่ผุพังกำลังเปื่อยยุ่ย เห็ดชนิดต่างๆเริ่มทำหน้าที่ย่อยสลายอย่างเต็มที่ เมื่อความชื้นพอเหมาะและแสงสว่างที่ไม่มากเกินไป ไม้เลื้อยและไม้พุ่มกำลังแตกกิ่งเขียวแน่นเป็นหลังคา มีก้อนหินฝังตัวอยู่ตามข้างทางเดินเป็นระยะ สังเกตุเห็นสภาพธรรมชาติแบบนี้แล้วน่าจะใกล้เคียงกับลักษณะพื้นถิ่นอาศัยของบึ้งแคระตามที่น้าหมูบอก

ตามเส้นเทรลเรียบลำห้วยโกรกอีดก มีก้อนหินใหญ่เล็กประปราย

ใยขาว ใต้ก้อนหิน
          การสำรวจแมงมุมทั้งกลุ่มแมงมุมทรูสไปเดอร์และกลุ่มแมงมุมโบราณเราจึงต้องสังเกตุใยขาวที่แมงมุมชักใยไว้ บางชนิดมีเส้นใยน้อยนิดและเบาบางมาก ไฟฉายจึงเป็นเครื่องมือช่วยให้สังเกตุเห็นได้ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะตามซอกหลืบและมุมมืด ไม่เจอตัวเป็นๆหลบซ่อนอยู่บริเวณนั้นก็คงเป็นหยักไย่ ที่แมงมุมเคยชักใยทิ้งร้างไว้ แต่สำหรับกลุ่มทารันทูร่าหรือบึ้งของไทย มักขุดรูตามพื้นดินต้องสังเกตุเส้นใยที่ชักถักทอห่อหุ้มออกมาถึงปากรู หากพบรูที่ไม่มีใยขาวแผ่ห่อหุ้ม ให้เห็นสันนิษฐานได้เลยว่าไม่ใช่รูบึ้ง และสำหรับบึ้งแคระมีความพิเศษยิ่งไปกว่านั้น... จากบริเวณทางเดินข้างในซุ้มอุโมงค์พุ่มไม้ น้าหมูไล่สังเกตุไปตามก้อนหินแต่ละก้อนในป่าข้างทาง จนมาหยุดเอาตรงก้อนหินขนาดใหญ่กว่าแตงโมนิดหน่อย ค่อยๆบรรจงเผยอพลิกก้อนหินเปิดให้เห็นผืนดินข้างใต้ "นี่ไงเจอแล้ว"เสียงน้าหมูร้องดังอย่างมั่นใจ ทุกคนวิ่งเข้าไปดูที่ก้อนหิน  เห็นรูร่องดินเล็กๆมีใยขาวปกคลุม "ไม่มีความเหนียวเลย"น้าหมูใช้คีมค่อยๆเขี่ยใยให้แน่ชัดว่าเป็นใยของกลุ่มทารันทูร่า แล้วค่อยๆเปิดปากรู มองหาเห็นตัวได้ยากมากถ้าไม่สังเกตุเพราะสีกลมกลืนพรางตัวกับดินดำ น้าหมูใช้คีมคีบจับตัวคล้ายก้อนดินขนาดประมาณ 2.5 ..ขึ้นมาใส่ฝ่ามือ "มันแกล้งตาย"ดลบอกจากประสบการณ์การเอาตัวรอดของสัตว์หลายชนิด เดินไปอีกประมาณสามสิบเมตรที่กองขอนไม้ผุ มีบางส่วนถูกย่อยเปื่อยเป็นดินน้าหมูพลิกท่อนที่พอแข็งๆอยู่บ้างเปิดดูก็พบบึ้งแคระหดแข้งแปดขาแกล้งตายเป็นก้อนดินอยู่ในขอนไม้ผุดังกล่าว

 บริเวณใต้ก้อนหินที่พบบึ้งแคระ    


บึ้งแคระ หดขาแกล้งตายบนฝามือ มีขนาดความยาว 3.5 ซม   
บึ้งแคระ
          ทั้งสองตัวดูผิวเผิน คล้ายๆบึ้งสีน้ำตาล แต่มีขนาดเล็กน่าจะเป็นลูกบึ้งมากกว่าผมนึกอยู่ในใจ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ลักษณะโครงสร้างของสัดส่วนต่างๆของบึ้งแคระมีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างจากบึ้งสีน้ำตาลอย่างเห็นได้ชัดเจน น้าหมูยืนยันแน่นอนว่าเป็นบึ้งแคระที่อยู่ในสกุล Phlogiellus หลังจากที่เก็บตัวอย่างเจ้าบึ้งแคระสองตัวนี้นำไปวิเคราะห์ในห้องแล็ปอย่างละเอียดพร้อมคำยืนยันว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่เคยพบในภาคเหนือและภาคอื่นๆในประเทศไทย ถามว่ามันมีวงจรชีวิตยาวนานเหมือนบึ้งตัวโตมั้ย มีพิษมากน้อยแค่ไหน คำตอบก็ยังคงไม่มีเพราะยังไม่มีรายงานการศึกษาบึ้งแคระชนิดนี้ แต่ทราบว่าตัวแรกจากใต้ก้อนหินเป็นตัวผู้ ตัวที่สองเป็นตัวเมีย คือการยืนยันการจำแนกเพศและชนิดจากวิธีการที่ซับซ้อนและแม่นยำในห้องแลป ความรู้จากพื้นถิ่นอาจเข้าใจได้ว่าเป็นลูกบึ้ง คงเพราะโอกาสที่จะทำความรู้จักกับบึ้งแคระมีไม่มากนัก บึ้งแคระมีโอกาศให้มนุษย์จับต้องได้ยากมากกว่าบึ้งตัวโตที่มักเผลอออกมาวิ่งไล่จับเหยื่อให้มนุษย์เห็นและจับกินมากกว่า เรื่องราวของบึ้งแคระในประเทศไทยจึงอยู่ในมุมใต้ก้อนหินมานาน 

บึ้งแคระ เป็นบึ้งในสกุล Phlogiellus ถูกจับวางบนดอกเห็ดถ้วยแชมเปญ
ดล ไอโฟน เห็ดถ้วยแชมเปญ

          น้าหมู บรรจงวางบึ้งแคระสองตัวลงบนดอกเห็ดแชมเปญที่ขึ้นอยู่ประปราย เพื่อแสดงให้เห็นขนาดเปรียบเทียบ(ดอกเห็ดคล้ายถ้วยแชมเปญ ขนาด 0.5-3.5 เซนติเมตร ถ้วยมีสีส้มอมชมพู) เป็นภาพบันทึกที่ราวกับจะบอกว่าเรากำลังได้กลับไปสู่ดินแดนแห่งเทพนิยายในหมู่บ้านชาวฮอบบิตที่มีสิ่งมีชีวิตขนาดย่อส่วนและมีสิ่งมหัศจรรย์อยู่ในนั้นมากมาย นอกจากนี้เรายังพบแมงมุมอีกหลายชนิดโดยเฉพาะพวกFishing spider แมงมุมอยู่ในวงศ์ Pisauridae พวกพเนจร แมงมุมอยู่ในวงศ์ Sparassidae ทั้งสองชอบหากินจับเหยื่อริมน้ำ แมงมุมกระโดดอยู่ในวงศ์ Salticidae ชักใยเป็นแผ่นบนต้นไม้ และแมงมุมตาหกเหลี่ยม หรือ Linx Spider เป็นแมงมุมในวงศ์ Oxyopidae เป็นต้น แมงมุมเหล่านี้ต่างทำหน้าที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อาหารที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแมลงในระบบนิเวศน์ของป่าน้ำตกโกรกอีดก เพียงแต่ว่าการศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแมงมุมยังมีอยู่น้อยมากสำหรับเมืองไทย ภาพรวมของแมงมุมจึงไม่ค่อยชัดนัก

 แมงมุมพวกฟิชชิ่งสไปเดอร์ อยู่ในวงศ์ Pisauridae
หน้าหมูกำลังส่องดูใยและตัวแมงมุมบนต้นไม้

  1. แมงมุมพเนจร อยู่ในวงศ์ Sparassidae

ดลจับงูให้พี่ช่อถ่ายรูป

 แมงมุมกระโดด(มุมมองด้านหลัง)อยู่ในวงศ์ Salticidae

ใยที่ขึงไว้เป็นแผ่นบางๆมีแมงมุมกระโดดอยู่ข้างใต้

งูเขียวหางไหม้ มีพิษอันตราย
 แมงมุมตาหกเหลี่ยม Linx Spider อยู่ในวงศ์ Oxyopidae 


สรรพชีวิตยังอาศัยความสมบูรณ์เขียวชอุ่มจากที่นี่ ตั๊กแตนตัวเล็ก

 แมงมุมพวกฟิชชิ่งสไปเดอร์ อุ้มไข่

แมงป่องน้ำ

          บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติโกรกอีดกเป็นชายป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากจากการที่ได้มาสำรวจแมงมุมกับน้าหมูครั้งนี้ ทำให้เห็นความมหัศจรรย์ที่ซับซ้อนของธรรมชาติมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลแมงมุมในชั้นแรกก็ตาม ขณะที่เราเสร็จภาระกิจกลับออกไป น้าเกรียงก็กำลังเดินทางเข้ามายัง ณ.ที่นี้เช่นกัน เพื่อทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจใหม่ให้กับ เด็กๆ พ่อแม่และครอบครัว เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ระบบธรรมชาติที่นี่เป็นฐานความเข้าใจที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดและเห็นคุณค่าแก่การดำรงอยู่ของสรรพชีวิตร่วมกันอย่างยั่งยืน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น