วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จินตนาการ สะพานเชื่อม

 "เพื่อนจากภาพร่างของเพื่อนๆโดยดลวาดขึ้นบนเฟรมผ้าใบ ทิ้งไว้พ่อ
   ได้สร้างสรรค์ต่อ(ยังไม่เสร็จถ่ายทอดประสบการณ์ที่รับรู้ความมหัศจรรย์ร่วมกัน
   ที่ทุ่งพัฒนาการ พื้นที่รกร้างที่ผมและเด็กๆได้เรียนรู้กันและกันที่นี่ 

       จากประสบการณ์ตอนที่ทำบ้านเรียนให้ลูกสองคน ดล และ แดน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยเริ่มรุ่น นอกจากห้องเรียนธรรมชาติแล้วยังมีศิลปะเป็นกิจกรรมหลักที่เราจะพากันไปเรียนรู้ หาประสบ
การณ์เพื่อรับรู้และซึมซับ มุ่งไปถึงตัวรู้ตามธรรมชาติเป็นขั้นๆไป การเรียนรู้จึงขยับไปตามความสนใจของเด็กๆ ตั้งแต่ขีดขูด คุ้ยเขี่ยและบันทึก ไปจนถึงวาดภาพเป็นผลงานศิลปะได้ ถือเป็นสำนึกรู้ขั้นที่สูงขึ้น ดังที่ ฟริตจ้อฟ ค้าฟก้า เรียกมันว่า"สำนึกรู้สะท้อนย้อนกลับ"(Reflective consciousness) เป็นการสะท้อนคิดประสบการณ์สำนึกรู้ในระดับที่สูงกว่าการทำความรู้จัก และเกี่ยวข้องกับระดับการรับรู้ เรียนรู้ ทางนามธรรมที่สามารถจินตนาการทางภาพและสามารถก่อรูปขึ้นตามเป้าหมายความคิดได้ การรับรู้จากประสบการณ์ตรงหลอมรวมกับข้อมูลที่เชื่อมโยงต่างมิติกันไว้โดยมีกระบวนการศิลปะเป็นตัวถ่ายทอด ความคิดและจินตนาการของเด็กๆจึงถูกรวบรวมเป็นผลงานศิลปะที่มีพ่อแม่และลูกร่วมกันทำ โดยได้ถูกจัดแสดงเป็นนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่องมาแล้วถึง 3 ครั้ง คือตั้งแต่นิทรรศการศิลปะ ธรรมะธรรมชาติ ในปี ๒๕๔๗ นิทรรศการศิลปะ ควบกล้ำธรรมชาติ ในปี ๒๕๔๙ และนิทรรศการศิลปะ วิถีควบกล้ำ ในปี ๒๕๕๒

 "เพื่อนจากภาพร่างของเพื่อนๆโดยดลวาดขึ้นบนเฟรมผ้าใบ

ศิลปะเด็กและผู้ใหญ่
          ในวัยเด็ก มุมมองที่มีต่อโลกธรรมชาติจะสดใหม่ มีเรื่องราวของสรรพชีวิตจากประสบการณ์ห้องเรียนธรรมชาติที่น่าตื่นเต้นไม่ว่าจะเป็นทุ่งแมลงหลังบ้านในทุกๆเช้า หรือจะเป็นการได้เดินทางไปตามแหล่งเรียนรู้ในธรรมชาติ การได้ละโดยเล่น รับรู้ เรียนรู้ และสัมผัสด้วยอยาตนะทั้งห้าเกิดเป็นแรงบันดาลใจสู่การถ่ายทอดที่พรั่งพรูออกมาผ่านร่องรอยอย่างเป็นธรรมชาติ หน้าที่ของพ่อแม่ผู้เอื้ออำนวยจึงต้องคอยมองหาและเก็บเกี่ยวความงดงามที่เรี่ยราดจากมุมมองของเด็ก พร้อมทั้งลงมือทำร่วมกันจนบางครั้งเด็กๆก็มองเห็นความงดงามของผู้ใหญ่ไปด้วยเช่นกันผลงานศิลปะที่ถูกรวบรวมคัดสรรในครั้งแรกและครั้งที่๒ จึงเป็นทั้งกระบวนการสดใหม่ของเด็กๆเองและการลงมือทำร่วมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสำนึกรู้แบบสะท้อนย้อนกลับทั้งภายในตนเองและภายนอกซึ่งกันและกัน เป็นสัมพันธภาพที่มีสายใยเชื่อมต่อโดยมี  พ่อ แม่ ลูกและโลกธรรมชาติ

"แปลงร่าง"ภาพวาดผีเสื้อ หนอนและดักแด้ จากประสบการณ์เลี้ยงหนอนผีเสื้อ
   ในตอนเด็กๆ ดลตะหวัดฝีแปรงไว้ใน นิรรศการครั้งแรก ๒๕๔๗

ผลงานนิทรรศการศิลปะ ควบกล้ำธรรมชาติ ๒๕๔๙  ช่วยกันติดตั้งก้อนใบสักที่
   ก่อรูปร่างลอยอยู่กลางห้อง และวางบนพื้นด้วย

ความจริงและสิ่งเพ้อฝัน
          จินตนาการเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความจริงและสิ่งเพ้อฝันบางครั้งหมิ่นเหม่ต่อความเพ้อเจ้อ มุมมองที่เข้าใจต่อสาระที่โยงใยไว้จึงสำคัญต่อการถ่ายทอด  จนถึงวัยเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นสำนึกรู้มักเข้าไปเกี่ยวโยงกับตัวเราเอง สำนึกรู้เท่าทันตัวตนมักเกิดปรากฏการณ์คิดย้อนสะท้อนภาพจินตนาการ ตนเอง เพื่อน ผู้อื่นและมิใช่เฉพาะพ่อแม่และครอบครัว แนวความความคิดของตัวตนจากสรรพชีวิตในห้องเรียนธรรมชาติเคลื่อนย้ายเข้าสู่สังคมและวัฒนธรรมร่วม เป็นพัฒนาการที่ก่อรูปร่างค่านิยม ความเชื่อ และเป้าหมายในอนาคตแม้ยังคลุมเครืออยู่ก็ตาม  บางครั้งอาจสับสนจากข้อมูลหลายๆด้านมิใช่เพียงแค่ประสบการณ์ตรงที่สะสมรับรู้มา การทำงานศิลปะในนิทรรศการครั้งที่๓ จึงเป็นช่วงที่เด็กๆเริ่มมีความเป็นตัวตนและต่างสร้างงานจากแรงบันดาลใจที่หลากหลายมิติมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานมาจากห้องเรียนธรรมชาติมาก่อน  และในช่วงปี๒๕๕๐-๕๒ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของสังคม3G ยุคที่ข้อมูลไอทีเริ่มทะลักเข้าสู่บ้าน แต่ก็ยังไม่ถึงตัวเหมือนอย่างยุค 4G .ปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การก่อรูปร่างความคิดของเด็กๆกินพื้นที่บริเวณว่าง สร้างจินตนาการเกี่ยวโยงไปถึงโลกอนาคตด้วย

"ทะเลลึกดลมีสัตว์ประหลาดใต้ทะเลซึ่งขึ้นรูปร่างจากจินตนาการที่หลอมรวม
   มาจากหลายๆมิติ  

ทะเล ท้องฟ้าและทุ่งหญ้า
          ดลเคยมีแรงบันดาลใจมาจากปลาหลากหลายชนิดเมื่อสมัยเด็กๆ มาคราวนี้ดลเขียนรูปทรงอิสระลื่นไหลไปตามจินตนาการ สัตว์ประหลาดจึงโผล่ปรากฏขึ้นในท้องทะเลลึก   แต่สำหรับบนท้องฟ้าดลเคยบันทึกการทำงานศิลปะในสมัยนั้นไว้ว่า 
       "ดลว่าการทำงานศิลปะของดลมันน่าเบื่อ แต่ก็สนุกดี แต่ดลคิดว่างานศิลปะพอมันทำเสร็จมันก็ถูกจับยึดอยู่กับที่เอามาจับเล่นไม่ได้ ซึ่งทำให้ดลคิดวาดภาพ"ยานเวหา"ขึ้นมา ดลได้วาดรูปยานที่ดลคิดออกแบบเอง สำหรับใช้ในโลกอนาคต ซึ่งดลหวังว่าอาจมีคนสร้างยานแบบนี้ขึ้นมาจริงในอนาคต เพราะโลกอนาคตอาจมีภัยพิบัติจนเราไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกธรรมชาติได้อีกแล้ว "  ดล ๒๖ ก.. ๕๒

  "ยานเวหาภาพยานที่ดลออกแบบไว้สำหรับโลกอนาคตแสดงในปี ๒๕๕๒

      ณ.ทุ่งหญ้าพื้นที่เรียนรู้ที่คุ้นเคยหลังบ้าน หมู่บ้านผาสุกดลวาดภาพร่างของเพื่อนๆร่วมประสบ
การณ์ไว้ให้พ่อสานต่อจินตนาการบนผืนผ้าใบชิ้นโต สำนึกรู้ของผมพยายามโยงใยประสบการณ์เอาไว้ที่สภาวะหนึ่งซึ่งคงไว้ต่อ "คุณภาพของความรู้สึกที่พิเศษสุดมันไม่สามารถอธิบายประสบ
การณ์เหล่านี้ด้วยระบบภาษาที่มีเหตุผล ผมจึงเลือกที่จะใช้จินตนาการเป็นสะพานเชื่อมให้ประสบการณ์สำนึกรู้เหล่านี้สื่อสารร่วมกับร่องรอยที่ถูกบันทึกไว้และศิลปะควบกล้ำธรรมชาติกำลังดำเนินต่อไปอีกโดยไม่มีเด็กๆ อย่างเช่นเคย

ดลและแดนกับผลงาน"เพื่อน"และ"จุดนัดพบ"เป็นผลงานชุดที่ดลวาดภาพร่าง
 เพื่อน พ่อ แม่ ตัวเองและน้อง ไว้ให้พ่อต่อเติมสร้างสรรค์แสดงในปี ๒๕๕๒

จุดนัดพบ"เคยแสดงในปี๒๕๕๒ ปัจจุบันพ่อกำลังสร้างสรรค์สายใยต่อยังไม่เสร็จ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น