วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วาฬมิใช่ปลา


วาฬมิใช่ปลานะลูก”....วลีนี้ทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศที่ได้ไปละเล่นกับเด็กอนุบาลในชั้นเรียนของเด็กชายดล สมัยที่เรียนในระบบโรงเรียนก่อนจะตัดสินใจออกมาทำบ้านเรียน เป็นความตื่นเต้นครั้งแรกในชั้นเรียนเด็กอนุบาล ผมไม่ได้เล่านิทาน ชาดก อีสปหรือเรื่องราวสอนใจเพราะรู้ถึงจุดอ่อนของตัวเองเลยหาตัวช่วยฉายภาพสัตว์กลุ่มต่างๆ ในธรรมชาติพร้อมเปิดเสียงร้องที่ทำให้หนูน้อยทั้งห้องอ้าปากหวอตกอยู่ในภวังค์แห่งจินตนาการธรรมชาติได้สำเร็จ เมื่อถึงคิวเสียงร้องของวาฬหลังค่อม คลื่นรหัสเสียงที่แปลกประหลาดแตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ จินตนาการของเด็กๆ พุ่งจดจ่อและดำดิ่งไปไกลถึงใต้ท้องทะเลด้วยอาการหลับตานั่งนิ่งไม่ไหวติง เรื่องราวในธรรมชาติมีพลังดึงดูดให้กับเด็กๆ หากได้รับรู้ว่าสรรพสิ่งรอบตัวล้วนแล้วแต่มหัศจรรย์ยิ่งนัก วาฬแหวกว่ายอยู่ในน้ำเหมือนปลาแต่มิใช่ปลาเพราะมีปอดหายใจ แถมยังให้นมลูกอยู่กลางทะเลอีกด้วย ความตื่นเต้นกับวาฬสีน้ำเงินเมื่อรู้ว่ามันเป็นสัตว์ที่ตัวโตที่สุดเทียบเท่ากับรถบรรทุกถึงสี่คัน มีน้ำหนัก 100-200 ตัน ข้อมูลชิ้นสำคัญที่ผมเชื่อมต่อส่งออกไปในวันนั้น อาจยังคงรอยประทับอยู่ในใจวัยเด็กของใครบางคน เช่นน้องอัลฟาที่เราพบกัน(จำได้ว่าเธอเป็นเด็กพิเศษที่เข้าร่วมชั้นเรียนในวันนั้น) ผมถามเธอ"จำได้มั้ย?" เธอตอบอย่างมั่นใจทันทีว่าจำได้...พ่อนกที่เล่าเรื่องวาฬสีน้ำเงินไงเธอจำผมได้เพราะวาฬสีน้ำเงิน
ดูวาฬครั้งแรก
สามปีที่แล้วกับความตื่นเต้นที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะได้เห็นวาฬ เมื่ออาจั๊กชวนพวกเรากลุ่มครอบครัวควบกล้ำ ฯ กับน้าเกรียงไปดูวาฬที่ ต.แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี จากข่าวการพบวาฬบรูด้าที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต เด็กๆ อยากเห็นวาฬตัวเป็นๆ  อยากเห็นบาลีนของวาฬเวลาอ้าปากมีปลากระโดด ฯลฯ ทันทีที่ไปถึงท่าเรือแหลมผักเบี้ย ดล แดน ซี จิโร่และเคน ต่างเตรียมกล้องบันทึกภาพ ด้วยความหวังว่าคงจะได้ภาพวาฬบรูด้า เรือวิ่งออกมาถึงจุดลอยรำอยู่กลางทะเลสักพักใหญ่ วนเวียนอยู่หลายจุดแต่ธรรมชาติกับความไม่แน่นอนมักเป็นสิ่งเดียวกันเราจึงพบกับทะเลที่ว่างเปล่า ความผิดหวังและความสนุกสนานมักเรียนรู้คู่กันไป การดูวาฬครั้งที่สองเป็นความพยายามที่ไม่ลดละของอาจั๊ก เมื่อวิทยุแจ้งเข้ามาเราจึงลงเรือทันที ลุงแดงพาเรือออกมาไกลจนไม่เห็นฝั่ง ทุกคนตื่นเต้นและเตรียมความหวังและผิดหวังไว้ระคนกัน ท่ามกลางความเงียบสงบกลางทะเลขณะที่แต่ละคนต่างจดจ่อ มีเสียงพ่นน้ำจากกาบซ้ายของหัวเรือห่างออกประมาณห้าสิบเมตรดังขึ้น เด็กๆวิ่งกรูกันไปที่หัวเรือ เห็นครีบหลังโผล่ขึ้นเหนือน้ำ พร้อมไอนำ้ที่กำลังจางหายจากลมหายใจออกของวาฬบรูด้า เป็นภาพประทับติดตาสำหรับประสบการณ์จากธรรมชาติของเด็กๆในครั้งนั้น

วาฬบรูด้า ๒๕๕๖
กระแสดูวาฬบรูด้ากำลังมาแรง เมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ให้คนไทยเรารู้จักวาฬบรูด้ามากขึ้น  ไม่ว่าในมุมส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือในมุมของการอนุรักษ์ธรรมชาติ น้าเกรียงจึงนัดแนะพวกเราไปดูวาฬอีกครั้ง ดล แดน แก้ม ซี พอร์ท เคนและจีโร่ ขณะนี้กำลังย่างเข้าวัยรุ่นแต่ก็ยังค้างคากับวาฬบรูด้าที่แหลมผักเบี้ยอยู่ มาครั้งนี้มั่นใจได้ว่าจะได้สัมผัสวาฬบรูด้ากันแบบเต็มจอเสียที ณ. .บางตะบูน จ.เพชรบุรี เรือลุงจำรูญและลุงเล็กสองลำพาเราออกไปไกลประมาณชั่วโมงกว่า ถึงที่หมายปลากะตักกระโดดชุกชุม สักครู่วาฬบรูด้าตัวแรกโผล่ขึ้นมาต้อนปลากะตัก ดลบันทึกภาพได้แต่ลำตัวและครีบหลัง วาฬบรูด้า(Bryde's Whale)ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณ 14-15 เมตร เป็นวาฬไม่มีฟันขนาดกลาง แต่มีซี่กรองอาหาร"บาลีนเพลท"ชอบหากินไกล้ฝั่งแถวชายฝั่ง เราตามฝูงปลากะตักที่กระโดดตามผิวน้ำ ถึงจุดชุกชมมีนกนางนวลบินโฉบอยู่ประปราย บรูด้าค่อยๆอ้าปากขากรรไกรขนาดยักษ์รองับฝูงปลากะตัก ท่ามกลางเสียงรัวชัตเตอร์กล้องและเสียงร้อง...อื้อหือ...โอ้โห...ผลัดกันเป็นระยะ ขณะที่มันว่ายต้อนฝูงปลากระตักเราตามไปดูห่างๆมันตีหางไปด้วย แวะงาบไปว่ายไปนับได้ประมาณหกตัว มีชื่อหลายชื่อที่น้าเกรียงรู้จักและสังเกตุเห็นตำหนิของแต่ละตัว เช่น แม่กันยา  แม่สาคร และเจ้าแตงไทย ฯลฯ ขณะนี้มีการจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยมีการตั้งชื่อระบุตำหนิไว้แล้วถึง ๒๗ ตัว สำหรับการศึกษาพฤติกรรมการย้ายถิ่น การกินอาหาร การผสมพันธ์ุออกลูก โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะลเและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน
ดลบันทึกวาฬ
ในตอนเด็กๆนั้น ผมมีความชื่นชอบวาฬซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่แห่งท้องทะเล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดมหึมาของมันทำให้ผมสนใจและอยากที่จะเห็นตัวจริงๆในทะเล แต่ ณ ตอนนั้นผมมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวมาก (อาจเป็นเพราะยังเด็ก และประมาณสิบปีที่แล้วยังมีการศึกษาวาฬในไทยน้อยกว่าปัจจุบันมาก รวมถึงวาฬที่ผมได้เห็นจากในสารคดีส่วนใหญ่เป็นวาฬจากต่างประเทศ) จนทำให้ผมละความสนจากวาฬไป…. จนช่วงหลังตอนผมโตขึ้น พ่อได้ชวนไปดูวาฬบรูด้า ที่ แหลมผักเบี้ย เป็นครั้งแรกของผมที่จะได้เห็นวาฬตัวจริง! ทำให้ผมตื่นเต้นมาก โดยครั้งนั้นผมได้ใช้เวลากว่า ๓ ชั่วโมงในการตามหาวาฬอยู่ในทะเล แต่กลับไม่เจอวาฬซักตัว  ต่อมาไม่นานผมได้กลับมาตามหาวาฬที่นี่อีกเป็นครั้งที่ ๒ ได้เห็นวาฬบรูด้าตัวจริงๆ ถึงแม้ว่ามันโผลขึ้นมาไม่กี่ครั้ง แต่มันก็ทำให้ผมประทับใจมาก และครั้งล่าสุดผมได้มีโอกาศไปดูวาฬที่ บางตะบูน เป็นครั้งที่ผมได้ดูและถ่ายภาพวาฬบรูด้าอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ พฤติกรรมการหากินของวาฬแม่ลูกคู่หนึ่ง และทีประทับใจที่สุด คือการที่ได้เห็นวาฬกระโดดขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามมาก แม้ว่าผมจะไม่สามารถถ่ายรูปใว้ได้ทัน แต่ภาพนี้ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมเสมอ....
ร่ายรำและร่ำลา
วาฬบรูด้าเริ่มทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ จนถึงฉากสุดท้าย ขณะที่บางคนกำลังละความสนใจไปแล้ว เธอกระโดดตัวขึ้นลอยเหนือนำ้และบิดตัวกระแทกกับผิวนำ้เกิดฟองกระจายขาวท่ามกลางนำ้ทะเลสีเข้ม แก้มบันทึกได้ทันแค่ฟองกระจาย ดลเห็นมันกับตาแต่ไม่ทันบันทึกภาพ ผมทึกทักเอาว่ามันคือการรำ่ลาทีร่ายรำความสนุกสนานหลังหม่ำปลากะตักมาพักใหญ่ เหมือนกับจะบอกกับเราว่า "อิ่มแล้ว..ไปแล้วจ้าแล้วเจอกันใหม่" บรููด้าทิ้งรอยประทับฟังลึกไว้ให้กับผู้พบเห็น ส่งสัญญาณบอกให้เราสำนึกถึงระบบนิเวศน์ทางทะเลที่ยังคงพออุดมสมบูรณ์ตราบใดที่ประชากรครอบครัววาฬบรูด้ายังมีความสุขเริงร่าอยู่ได้ในทะเล เรายิ่งต้องให้ความสำคัญในการดูแล ปกป้องกับทะเลอ่าวไทยตอนบน อย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้น

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อาณาจักรมด

สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มีระบบสังคมที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน โดยเฉพาะวงจรชีวิตที่มีมดนางพญาเป็นศูนย์กลางควบคุมระบบชีวิตทั้งอาณาจักร โดยมีมดวรรณะต่างๆ ช่วยกันทำหน้าทีภารกิจที่แตกต่างกันเมื่อกลุ่มเด็กๆ ที่สนใจธรรมชาติเป็นทุนเดิม กลับมาสนใจศึกษามดอย่างจริงจัง คงเป็นเพราะกลไกในการสร้างอาณาจักรของมดนั้นน่าติดตามสังเกตการณ์ และเรื่องราวจากมดตัวเล็กๆ นี่เองที่เราได้รับอานิสงค์จากองค์ความรู้ที่เก็บเกี่ยวได้จากการศึกษาวิจัยมดไม่เฉพาะแค่ด้านชีววิทยาเท่านั้น ในการศึกษาพฤติกรรมมดนั้นได้ถูกต่อยอดไปถึงแวดวงปัญญาประดิษฐ์  เมื่อ Ant colony optimization การศึกษาพฤติกรรมการหาอาหารในเส้นทางที่สั้นที่สุดของมดได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาการจัดการด้านต่างๆที่ให้ประสิทธิภาพสูงกว่า หากเรากลับไปดูองค์ความรู้ต้นทางพบว่ามดในประเทศไทยที่ค้นพบแล้วมีอยู่ประมาณ 1,000 ชนิดแต่สามารถระบุชนิดได้เพียง 300 ชนิดซึ่งนับว่าน้อยมาก ในขณะที่ทั่วโลกมีมดที่จำแนกชนิดแล้วประมาณ 15,000 ชนิด นี่อาจเป็นส่วนลึกๆที่ผมรู้สึกเป็นสุขขึ้นมาทุกครั้งที่เห็นกลุ่มเด็กๆ สนใจสำรวจศึกษามด


ธรรมชาติบนธรรมชาติ
            ในขณะเดียวกันจุดสำคัญของผมมาอยู่ตรงที่ธรรมชาติการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กๆที่รักธรรมชาติซึ่งกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นและกำลังมีพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลง รวมถึงวิถีเรียนรู้ธรรมชาติของเขาด้วย  การมีส่วนร่วมในการละเล่นเรียนรู้ของผมกับลูกจะค่อยๆ ถอยห่างมาเป็นแค่ผู้สังเกตุการณ์และเอื้ออำนวยเท่านั้น

            เมื่อดลกับแอมเด็กชายชอบมด   มาบรรจบพบเจอกันในสังคมเครือข่ายเฟสบุค บนหน้าเพจกลุ่มสนใจมดด้วยกัน ด้วยวัยรุ่นราวคราวเดียวกัน  ดลและแอมได้นัดหมายเจอกันเพื่อสำรวจมดกันครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์มด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และครั้งต่อจากนั้นจึงนัดกันเดินทางไปสำรวจมดที่เมืองกาญจนบุรีเป็นประสบการณ์การเดินทางด้วยรถไฟตามลำพังสองคน ผมเองอยากติดตามไปสังเกตการณ์เรื่องราวของเด็กในบางจุด แต่ในหลายๆโอกาศที่เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ  ผมชวนดลไปเที่ยวที่บ้านของแอม ซึ่งแอมเองมักเปรยให้เราฟังบ่อยๆว่า"แถวๆบ้านผมไม่มีธรรมชาติให้หลงเหลือไว้แม้ตารางนิ้วเดียว" บ้านแอมอยู่ในซอยสลับซับซ้อนแถววงเวียนยี่สิบสอง บนถนนเยาวราช แต่ก็มีห้องไว้เพาะเลี้ยงมดและสัตว์อื่นๆที่แอมสนใจ ต่อจากนั้นดลก็ชวนกันมาสำรวจมดที่ทุ่งรกร้างหลังบ้าน แอมนั้นชอบธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กไม่ว่า นก หนอน แมลง  กบ เขียด กิ้งก่า และธรรมชาติทั้งหมด  ด้วยใจรักธรรมชาติเป็นความชอบดั้งเดิม แม้สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เป็นใจมากนัก แอมมักจะดั้นด้นไปถึงพื้นที่ธรรมชาติด้วยตัวเอง เด็กชายทั้งสองจึงมีกิจกรรมสำรวจศึกษามดที่ทุ่งหลังบ้านร่วมกันและพบมดหลากหลายชนิดที่ทุ่งรกร้างแห่งนี้

เมื่อดลบันทึกเกี่ยวกับมด
มดเป็นแมลงที่ผมเคยสนใจมาตั้งแต่เด็ก จนถึงตอนนี้ผมได้กลับมาสนใจอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังมากขึ้น  ทั้งจากการเลี้ยง ดูพฤติกรรมและการสำรวจในธรรมชาติ มดเป็นแมลงที่อยู่กันเป็นสังคมที่น่าสนใจมากกลุ่มหนึ่ง แมลงกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการอยูอาศัยแบบมีสังคมวรรณะโดยมีนางพญาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทำหน้าที่ออกไข่และสั่งงานให้กับมดงานตัวอื่นๆให้ทำหน้าที่ดูแลตัวอ่อน,หาอาหาร,ขุดสร้างรังก่อนที่จะเป็นรังมดทั้งรัง จากนางพญามดเพียงตัวเดียว เมื่อบินขึ้นไปผสมพันธุ์กับมดตัวผู้สำเร็จก็จะหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับวางไข่และทำรังในอนาคต เมื่อนางพญาวางไข่ออกมาจำนวนหนึ่งมันจะเฝ้าดูแลไข่เหล่านั้นจนออกมาเป็นมดงานชุดแรก มดงานเหล่านี้จะคอยหาอาหารและดูแลไข่และตัวอ่อนชุดต่อๆไปจนมดงานเพิ่มจำนวนประชากรในรังให้มากพอ ก็จะเริ่มวางไข่มดนางพญาและมดตัวผู้ออกมาเพื่อขยายพันธุ์และสร้างรังใหม่ นี่เป็นเพียงวงจรการขยายพันธุ์โดยย่อของอาณาจักรมด ซึ่งผมได้มีโอกาสศึกษาและทดลองเลี้ยงมด ทำให้ผมได้เห็นรายละเอียดในพฤติกรรมของมัน ทั้งในการวางไข่ การเลี้ยงดูตัวอ่อนแต่ละตัวที่ต้องใช้ความอ่อนโยนละเอียดอ่อนมาก  จนถึงพฤติกรรมในการล่าเหยื่อที่เต็มไปด้วยความดุร้ายซึ่งถูกรวมกันไว้ในสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ มันอาจเป็นแค่เรื่องราวเล็กๆในธรรมชาติ  หากเพียงแค่เราลองให้เวลาศึกษาเฝ้าดูมด เราจะพบกับอาณาจักรมดที่ไม่เล็กอย่างที่คิด

การเลี้ยงมดของแอม

ผมเริ่มเลี้ยงมดจากนางพญาตัวเดียวในหลอดทดลอง ใส่สำลีชุบนำ้ไว้ที่ก้นหลอด ใส่นางพญาลงไปและมีสำลีปิดปากหลอดไว้ นำหลอดทดลองไปไว้ในทีมืดๆ ให้รบกวนน้อยที่สุด ไม่นานจะพบไข่มดเล็กๆ และต่อจากนั้นประมาณ 1-2 เดือนจะเริ่มเห็นมดงานเดินไปเดินมาในหลอดจึงค่อยเริ่มให้อาหาร เมื่อมีมดงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ตัวจึงย้ายลงไปเลี้ยงในกล่องเปิดโดยทาพาราฟินออยล์รอบขอบกล่องกันมดหนี เลี้ยงไปซักพักจนได้จำนวนมด 90-200 ตัวก็ย้ายลงไปเลี้ยงในรังปูน ขนาด 20 x 30cm.ต่อจากนี้มดจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆจนสามารถขยายรังต่อไปได้อีก ถ้ามีแหล่งอาหารสมบูรณ์นางพญาจะมีอายุได้ถึง 10 ปี มดนางพญาต้องการอาหารประเภทโปรตีนเป็นพิเศษ ส่วนมดงานต้องการอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท  ในระยะแรกนางพญาจะกินไข่หรือหนอนของตัวเอง ..เป็นปกติ  มดงานชุดแรกจะมีขนาดเล็กทำหน้าที่ดูแลไข่และหาอาหารบ้างและเมื่อมีอาหารสมบูรณ์มากขึ้นก็จะมีมดงานขนาดใหญ่ขึ้นนางพญามดแต่ละสายพันธ์เลือกพื้นที่สร้างรังแตกต่างกัน แม่เป้งสร้างรังบนต้นไม้ แมลงมันจะขุดดินสร้างรัง ถ้านางพญาตาย มดทั้งรังก็จะตายหมด เนื่องจากนางพญาจะควบคุมพฤติกรรมของมดทั้งรังโดยการสร้างฟีโรโมนออกมาควบคุมสื่อสารกับมดทุกตัวในการทำหน้าที่ภาระกิจที่แตกต่างกัน

มดวิทยา

มดวิทยา(Myrmecology)จึงเป็นศาสตร์ทีว่าด้วยการศึกษารวบรวมวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับมด เนื่องจากการศึกษาหรือวิจัยตลอดจนการสำรวจความรู้เกี่ยวกับมดในประเทศไทยไม่ค่อยมีมาในอดีตทำให้เราอาจรู้จักมดน้อยไป ในขณะทีต่างประเทศมีนักมดวิทยาได้บุกเบิกศึกษาชีวิตมดอย่างจริงจังมาตั้งแต่ประมาณปี ค..1874 และคาดการณ์ว่ายังมีมดอีกมากมายหลายชนิดที่รอการค้นพบและตั้งชื่อ รวมทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆที่เราจะเก็บเกี่ยวได้จากอาณาจักรมด   ในขณะที่สังคมเมืองพยายามกำจัดมดออกไปจากวิถีประจำวัน และหลงลืมไปแล้วว่าเรายังต้องอาศัยพึ่งพาใช้บริการจากระบบนิเวศน์ในธรรมชาติโดยที่มีมดเป็นตัวสำคัญอยู่ในระบบ หรือแม้กระทั่งความสะดวกสบายในวิถีสมัยใหม่ที่เราอาศัยอยู่ บางส่วนมาจากการศึกษาวิจัยมด และเมื่อกลุ่มเด็กๆรวมตัวกันสนใจสำรวจศึกษามด แม้มิใช่โครงงานศึกษาโดยตรงหรือคิดหวังได้พึ่งประโยชน์จากมด แต่ก็จะเป็นประสบการณ์ศึกษาที่น่าจะซึมซับ เรียนรู้เข้าใจระบบธรรมชาติที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนได้มากขึ้น
   ﴾͡๏̯͡๏﴿