วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

กับดักแสงไฟ


กิ
จกรรมสำคัญที่เด็กๆในกลุ่มครอบครัวควบกล้ำฯ มักจะไม่พลาดหากได้โอกาศออกสำรวจธรรมชาติแบบค้างคืนแล้วด้วย ไลท์ แทร็ป (Light Trap) จะเป็นกิจกรรมสำรวจแมลงที่เด็กตระเตรียมกันเองในตอนกลางคืน โดยใช้แสงไฟจากหลอดไฟแบล็คไลต์ที่ให้แสงสว่างในช่วงคลื่นความถี่ตั้งแต่ 315-400 นาโนเมตร(ช่วงคลื่น UVA) ซึ่งจะดึงดูดแมลงให้มาตอมไฟกในยามค่ำคืน โดยเฉพาะแมลงที่ออกหากินตอนกลางคืนนั้นมักมีรูปร่างหน้าตาพิลึกกึกกือมากกว่าแมลงหากินกลางวันเสียอีก เช่น ผีเสื้อกลางคืน Moth มีสีสันพรางตัวและรูปทรงประหลาดด้วยขนปุกปุยแตกต่างจาก Butterfly ผีเสื้อกลางวันที่มีสีสันสดใส เด็กๆจึงมีกิจกรรมสำรวจด้วยการเฝ้ารอคอยที่ท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง เผื่อว่าจะได้พบเจอแมลงตัวเด็ดๆ ในยามค่ำคืนซึ่งเป็นโอกาศที่ไม่ง่ายนัก หากแต่จะต้องมีเท็คนิคพิเศษอีกนิดหน่อยเท่านั้น

แมลงกลางคืน
จากคำบอกเล่าของดล ผู้ชื่นชอบการทำไลท์แทร็ป การล่อแมลงด้วยแสงไฟ ด้วยประสบการณ์มาแล้วหลายๆแห่ง "ผมเคยไปทำกันในพื้นที่ต่างๆ เช่นที่ กาญจนบุรี ปากช่อง เขาใหญ่ ปางสีดา แก่งกระจาน และเกาะช้าง เราใช้อุปกรณ์หลอดไฟสองชนิด คือ หลอดแบล็คไลท์ที่ให้แสงสีม่วงที่ไม่สว่างมากนัก จะปล่อยคลื่นความถี่ในช่วงคลื่น UVA โดยจะตั้งเสาให้ได้ระดับสูง เหมือนเสาส่งคลื่นวิทยุ เพื่อกระจายคลื่นแสงได้ในระยะใกล ช่วยดึงดูดแมลงในพื้นที่กว้างและใช้หลอดแสงจันทร์ให้ความสว่างมากอยู่ด้านล่าง เพื่อให้แมลงบินลงตอมเกาะผ้าขาวที่ขึงไว้เป็นฉากหลัง ในการทำไลท์แทรปแต่ละครั้ง ถ้าเรารู้ว่าแมลงชนิดใดออกมาหากินในช่วงเวลาไหน เช่นตอนปลายหน้าฝนเราจะพบเห็นพวกด้วงหรือถ้าจะอยากดูความหลากหลายของแมลงหลายชนิดจะต้องมีหน้าฝนและเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่สมบูรณ์ อย่างเช่นที่เคยไปทำที่ตำบลห้วยมาลัย อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี ที่นั่นอยู่ลึกเข้าไปจากตัวเมืองเป็นหมู่บ้านชุมชนเล็กๆ ทำให้พบแมลงหลายชนิด ตั้งแต่ด้วงกว่างสามเขาตัวโต แมลงหายากหลายชนิด ไปจนถึงแมลงหวี่ ริ้น ไร แมลงตัวเล็กๆขนาดที่มองด้วยตาเปล่าแทบจะไม่เห็น"
ค่ำคืนเดือนมืด
การทำ ไลท์แทรป อาจต้องอาศัยปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้การดึงดูดแมลงด้วยแสงไฟได้ทำงานเต็มที่ เช่นเวลาหลังสามทุ่มขึ้นไป แมลงกลางคืนจะเริ่มออกมากันตอนดึกๆ มิฉะนั้นแล้วเราจะพบเห็นแค่แมลงตอมไฟไม่กี่ชนิด ส่วนช่วงเดือนนั้นก็สำคัญสำหรับแมลงที่มีวงจรชีวิตที่ยาวนาน เราจะพบด้วงกว่างได้น้อยมากถ้าไม่ใช้ฤดูฝนเพราะ แมลงจำพวกนี้จะมีวงจรชีวิตที่เป็นหนอนและดักแด้ในเวลาที่เหลือ หรือในกรณีที่เป็นค่ำคืนเดือนหงายก็จะมีแมลงออกมาน้อยกว่าในค่ำคืนเดือนมืดซึ่งจะทำให้กับดักแสงไฟมีประสิทธิภาพมากกว่า เด็กๆจะเห็นภาพรวมความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น ด้วยประสบการณ์ชั่วโมงบินและความท้าทายที่รอคอยแมลงแปลกๆที่อยากเห็นเป็นแรงบันดาลใจ แม้ค่ำคืนถึงดึกดื่นพวกเขาก็จะถ่างตารอคอยจนหลับไปด้วยกิจกรรมล่อแมลงด้วยแสงไฟ
แมลงทุกหนแห่ง
นับแต่วัยเด็กเล็กของดลและแดน ทุกๆ ครั้งที่เราได้ไปกางเต้นท์ค้างคืนตามอุทยานแห่งชาติในหลายๆแห่ง การเข้าห้องน้ำทำกิจธุระยามเช้าจะกลับกลายเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นอีกอยางหนึ่งของเด็กๆ เพราะอาจจะได้เจอแมลงตัวสำคัญเกาะอยู่ตามผนังและเพดานห้องน้ำ เช่นผีเสื้อกลางคืนชนิดที่ตัวโตที่สุดเช่นผีเสื้อแอตลาสที่เด็กๆมักจะรู้จักจากหนังสือภาพ ซึ่งอาจจะเป็นสัญชาติญาณของแมลงและความคุ้นชินกับแสงไฟยามค่ำคืนจากห้องน้ำที่ส่องสว่างอยู่กลางป่าเป็นประจำทุกค่ำคืน ในยามเช้าจึงหลงเหลือแมลงที่หลงไหลแสงไฟจนไม่ยอมกลับบ้านให้เราได้พบเห็นได้เกือบทุกหนแห่ง ถ้าเด็กๆรู้จักสังเกตุ
          การทำไลท์แทร็ปแต่ละครั้งจึงมีทั้งความตื่นเต้น ในท่ามกลางค่ำคืนที่เงียบสงัด บางครั้งมีเสียงประหลาดคล้ายยานบิน เวียนวนอยู่บนเสาแสงไฟด้านบนก่อนจะหล่นตุ๊บลงมาพร้อมกับเสียงกระพือปีกอันดังของด้วงกว่างสามเขาตัวโต หรือบางครั้งก็เป็นการรอคอยที่ยาวนานด้วยฉากผ้าขาวที่ว่างเปล่า จนกระทั่งได้พบเจอแต่แมลงกลุ่มมวนแดงฝ้ายเกาะตอมไฟเต็มไปหมดในพื้นที่กลางไร่มัน ในการทำไลท์แทร็ปแต่ละครั้งจึงมีความท้าทายอยู่บนความไม่แน่นอนของระบบธรรมชาติเสมอ



          สำคัญที่แมลงมิได้เพียงออกมาท้าทายความตื่นเต้นของเด็กๆ แต่เป็นการทำความรู้จักโลกธรรมชาติด้วยกิจกรรมการสำรวจในรูปแบบนี้ ช่วยให้เรารับรู้ถึงความหลากหลายและจำนวนปริมาณของแมลงแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความหมายต่อคุณภาพของระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ โดยเฉพาะสังคมพรรณพืช นก และสัตว์อื่นๆ ที่เราต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

บ้านนาบ้านเรียน


บ้านนาบ้านเรียนเป็นประสบการณ์สำคัญที่เด็กๆกลุ่มครอบครัวควบกล้ำธรรมชาติได้จดจำประทับรอยเอาไว้ แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ผ่านมาแล้วสามถึงสี่ปี ยิ้มบ้านนาจึงปรากฏตัวเสมอในวงสนทนาทั้งพ่อแม่และเด็กๆ แต่เวลาที่เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เราต่างพบประสบกับความเปลี่ยนแปลงทั้งใกล้และไกลตัว เมื่อกลุ่มเด็กๆที่กำลังก้าวย่างเข้าสู่วัยรุ่นต่างก็มีพัฒนาการความสนใจที่เริ่มแตกต่างกันออกไป ทุ่งนา บ่อโคลน บึงน้ำ กบ เขียด ตั๊กแตน แมลงปอและสรรพชีวิตที่เด็กๆคุ้นเคย อาจกลายเป็นความทรงจำที่ฝังลึก ภาพโรงนาหลังคามุงจากขนาดใหญ่กว่าศาลา เคยเป็นมากกว่าบ้านเรียนสำหรับเด็กๆ เป็นจุดร่วมใจที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันทุกๆอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง เป็นพื้นที่พักพิงสำหรับสารพัดกิจกรรมที่เราได้เรียนรู้สัมผัสธรรมชาติ
คบผู้ใหญ่สร้างบ้าน
เมื่อพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆคือการละเล่นและลงมือทำ ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ของเด็กๆ จึงเคลื่อนย้ายไปได้ทุกที่ น้าเกรียงจึงชักชวนพ่อแม่และเด็กๆ มาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ทุ่งนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้นาข้าวกับธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอบ้านนา จ.นครนายก จากพื้นที่แปลงนาข้าวสองไร่กว่าๆ ที่น้าเกรียงขอตัดแบ่งจากน้าแป๊ดเจ้าของนาหว่านที่ปลูกข้าวทำนามาแต่ดั้งเดิม และคาดหวังกันว่าจะได้เรียนรู้วิธีการทำนาจากแปลงนาข้าวของน้าแป๊ดคู่ขนานไปด้วย แต่สำคัญตรงที่เริ่มต้นต้องสร้างศาลาที่พักหลบแดดหลบฝนเสียก่อน
โรงนาร่วมใจ
โรงนาหลังคามุมจากด้วยประสบการณ์ใหม่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตกลงปลงใจกันว่าจะร่วมใจกันสร้างโดยไม่ต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญหรือแรงงานว่าจ้างทุกชนิด ช่วยกันถามไถ่ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์และลองผิดลองถูกกันไป เป็นกิจกรรมเรียนรู้ทักษะชีวิตที่ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ธรรมชาติจากนาข้าว เริ่มต้นวัดระยะ วางจุด ขุดหลุมเทปูนและตั้งเสาด้วยเสาไม้ยูคาฯขนาดกลางทีมี่นำ้หนักไม่มากนักเพื่อให้งานประเภท ขน ยก แบก หาม และ ขึ้นคาน ไม่เป็นอุปสรรคมากนักสำหรับแรงงานมือใหม่ เด็กๆช่วยกันทำงานผ่านประสบการณ์ทุกขั้นตอน ยกเว้นงานเกินขีดความสามารถที่มีความเสี่ยงเช่น ขึ้นคาน พาดเสา มุงหลังคาจาก ซึ่งพ่อแม่ต้องปีนป่ายขึ้นที่สูง เรียนรู้วิธีวางเรียงมุงจากและมัดจากอย่างถูกวิธี ด้วยโครงสร้างหกเสาพาดคานตีคร่าวหลังคาจั่ว ตรงไหนอ่อนหย่อนไปไม่แข็งแรงก็จะเสริมเพิ่มไม้จนเพื่อนบ้านเย้ากันเล่นๆว่าจะเป็นศาลาร้อยต้น โรงนาจึงสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างตามแบบฉบับเฉพาะตัว โรงนาขนาด ๕ คูณ ๑๐ เมตร ศาลาขนาดใหญ่มีหลังคามุงจากยกพื้นด้วยไม้ลวกมีชั้นลอยสำหรับพักนอนค้างคืน เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ตระหง่านอยู่กลางทุ่งนา
นาหว่านที่บ้านนา
"น้าแป๊ด" คุณครูนาข้าวทำนาหว่านปีละหนจะกำหนดเวลาตามช่วงจังหวะที่ฝนทิ้งระยะได้พอดีกับเมล็ดพันธ์ที่หว่านให้แทงรากงอกต้นกล้าเผื่อเวลาให้โตแข็งแรงชูต้นพ้นเหนือน้ำในช่วงเวลาหน้าฝนชุก  เด็กๆ จะหว่านข้าวตามกรรมวิธีพร้อมคุณครู แล้วคอยดูมิให้ต้นกล้าจมน้ำจนต้นข้าวเติบใหญ่โดยมิต้องใช้ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี และเมื่อข้าวตั้งท้องออกรวง ถึงเวลาต้องใช้เคียวเกี่ยวข้าว ตากข้าว และฟาดข้าวจนได้ผลเก็บเกี่ยวมาเป็นข้าวชาวบ้านนา เห็นคุณค่าข้าวทุกเมล็ดล้วนสำคัญ

            ช่วงเวลาสามถึงสี่ปีที่เราได้ใช้เวลาลงมือละเล่นเรียนรู้ร่วมกันที่บ้านนาไม่เฉพาะโรงนาที่สร้างกันมากับมือ นาข้าวสีเขียวที่คุ้นเคยกลิ่นโคลนกับบรรยากาศเสียงนกร้องก้องท้องทุ่ง ได้จับปลาหากบเขียดลงเล่นโคลนเป็นของแถม ถึงวันนี้โรงนาร่วมใจกำลังจะหมดอายุขัยและเด็กๆกลุ่มครอบครัวฯกำลังจะโตเป็นหนุ่ม แต่น้าเกรียงกำลังเริ่มสร้างอาคารถาวรด้วยตัวเองเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติในอนาคตที่บ้านนา เตรียมไว้สำหรับเมล็ดพันธ์รุ่นใหม่อีกต่อไป

บ้านนาตอนเริ่มต้น