วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

บึ้งแคระ

สำรวจแมงมุมตามเส้นทางขึ้นน้ำตกโกรกอีดก น้าหมูมนุษย์แมงมุม และดล

          หลังจากที่แมงมุมถูกนำมาเล่าเรื่องไว้หลายตอนแล้ว ถึงคราวนี้ได้จังหวะเวลาพอดีกับน้าหมู...มนุษย์แมงมุม(ชวลิต ส่งแสงโชติ)มาเป็นผู้นำสำรวจแมงมุมโดยเฉพาะ บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่โกรกอีดก แม้ว่าที่นี่จะได้พบเจอแมงมุมบางชนิดกับน้าเกรียงมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เคยสำรวจเจอแมงมุมทารันทูร่า(บึ้ง)กันเลย เมื่อน้าหมูผู้มีความเชี่ยวชาญในการสำรวจแมงมุมเป็นพิเศษและมีภาระกิจในการสำรวจแมงมุมเป็นหลักอยู่แล้วด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาศที่ดียิ่ง แต่เนื่องด้วยลักษณะของพื้นที่เป็นโครงสร้างของภูเขาหินปูน และเส้นทางเลียบลำห้วยเป็นพื้นที่รกทึบและลาดชันเสียส่วนใหญ่ ดูท่าจะไม่สอดคล้องกับพื้นถิ่นอาศัยของบึ้งซึ่งมักขุดรูตามพื้นที่โล่ง ลานดิน ทุ่งหญ้า หรือผาดิน ที่มีแดดส่องถึงซึ่งไม่น่าจะใช่ที่โกรกอีดก แต่น้าหมูให้ข้อสังเกตุไว้ว่านอกจากบึ้งหรือทารันทูร่าไทยที่เพิ่งกำลังศึกษาอย่างเป็นระบบอยู่นี้ ยังมีบึ้งอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่มีการทำการศึกษาเลยในประเทศไทยนั่นคือ "บึ้งแคระ" ซึ่งมีรายงานการค้นพบอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปิน พม่า อินโดเนเซีย ยกเว้นไทยซึ่งยังไม่ได้มีรายงานการสำรวจ ประกอบกับถิ่นอาศัยของบึ้งแคระจะชอบอยู่ในที่เย็นชุ่มชื้น ขุดรูตามใต้ก้อนหินและขอนไม้ผุ  ซึ่งบนเส้นทางเดินเลียบลำห้วยน้ำตกโกรกอีดก น่าจะมีความเป็นไปได้สูงตามที่น้าหมูตั้งสมมติฐานและคาดหวังเอาไว้

ยังเขียวชะอุ่มชุ่มชื้น ลำห้วยโกรกอีดกมีลักษณะโครงสร้างเป็นภูเขาหินปูน

ใยขาว ทุกหนแห่ง แหล่งแมงมุม


ความชุ่มชื้นที่มืดครึ้ม
          ช่วงหน้าฝนของปีนี้ที่คาดว่าจะแล้งน้ำมาก แต่ที่ลำห้วยโกรกอีดกยังคงความชุ่มฉ่ำเขียวชะอุ่มคงเดิมเหมือนทุกปี  ในวันที่ท้องฟ้าถูกปกคลุมด้วยเมฆฝน ชายป่าเขียวรกทึบยังเปิดโอกาศให้เราแทรกตัวเดินเข้าไปตามเส้นทาง เมื่อถึงทางเดินซุ้มอุโมงค์พุ่มไม้ภายในจึงมืดครึ้ม ตามพื้นปกคลุมไปด้วยใบไม้แห้งร่วงหล่นทับถมกันหนาแน่นถูกย่อยสลายกลายเป็นดินปุ๋ยที่ชุ่มชื้น มีขอนไม้ใหญ่ที่ผุพังกำลังเปื่อยยุ่ย เห็ดชนิดต่างๆเริ่มทำหน้าที่ย่อยสลายอย่างเต็มที่ เมื่อความชื้นพอเหมาะและแสงสว่างที่ไม่มากเกินไป ไม้เลื้อยและไม้พุ่มกำลังแตกกิ่งเขียวแน่นเป็นหลังคา มีก้อนหินฝังตัวอยู่ตามข้างทางเดินเป็นระยะ สังเกตุเห็นสภาพธรรมชาติแบบนี้แล้วน่าจะใกล้เคียงกับลักษณะพื้นถิ่นอาศัยของบึ้งแคระตามที่น้าหมูบอก

ตามเส้นเทรลเรียบลำห้วยโกรกอีดก มีก้อนหินใหญ่เล็กประปราย

ใยขาว ใต้ก้อนหิน
          การสำรวจแมงมุมทั้งกลุ่มแมงมุมทรูสไปเดอร์และกลุ่มแมงมุมโบราณเราจึงต้องสังเกตุใยขาวที่แมงมุมชักใยไว้ บางชนิดมีเส้นใยน้อยนิดและเบาบางมาก ไฟฉายจึงเป็นเครื่องมือช่วยให้สังเกตุเห็นได้ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะตามซอกหลืบและมุมมืด ไม่เจอตัวเป็นๆหลบซ่อนอยู่บริเวณนั้นก็คงเป็นหยักไย่ ที่แมงมุมเคยชักใยทิ้งร้างไว้ แต่สำหรับกลุ่มทารันทูร่าหรือบึ้งของไทย มักขุดรูตามพื้นดินต้องสังเกตุเส้นใยที่ชักถักทอห่อหุ้มออกมาถึงปากรู หากพบรูที่ไม่มีใยขาวแผ่ห่อหุ้ม ให้เห็นสันนิษฐานได้เลยว่าไม่ใช่รูบึ้ง และสำหรับบึ้งแคระมีความพิเศษยิ่งไปกว่านั้น... จากบริเวณทางเดินข้างในซุ้มอุโมงค์พุ่มไม้ น้าหมูไล่สังเกตุไปตามก้อนหินแต่ละก้อนในป่าข้างทาง จนมาหยุดเอาตรงก้อนหินขนาดใหญ่กว่าแตงโมนิดหน่อย ค่อยๆบรรจงเผยอพลิกก้อนหินเปิดให้เห็นผืนดินข้างใต้ "นี่ไงเจอแล้ว"เสียงน้าหมูร้องดังอย่างมั่นใจ ทุกคนวิ่งเข้าไปดูที่ก้อนหิน  เห็นรูร่องดินเล็กๆมีใยขาวปกคลุม "ไม่มีความเหนียวเลย"น้าหมูใช้คีมค่อยๆเขี่ยใยให้แน่ชัดว่าเป็นใยของกลุ่มทารันทูร่า แล้วค่อยๆเปิดปากรู มองหาเห็นตัวได้ยากมากถ้าไม่สังเกตุเพราะสีกลมกลืนพรางตัวกับดินดำ น้าหมูใช้คีมคีบจับตัวคล้ายก้อนดินขนาดประมาณ 2.5 ..ขึ้นมาใส่ฝ่ามือ "มันแกล้งตาย"ดลบอกจากประสบการณ์การเอาตัวรอดของสัตว์หลายชนิด เดินไปอีกประมาณสามสิบเมตรที่กองขอนไม้ผุ มีบางส่วนถูกย่อยเปื่อยเป็นดินน้าหมูพลิกท่อนที่พอแข็งๆอยู่บ้างเปิดดูก็พบบึ้งแคระหดแข้งแปดขาแกล้งตายเป็นก้อนดินอยู่ในขอนไม้ผุดังกล่าว

 บริเวณใต้ก้อนหินที่พบบึ้งแคระ    


บึ้งแคระ หดขาแกล้งตายบนฝามือ มีขนาดความยาว 3.5 ซม   
บึ้งแคระ
          ทั้งสองตัวดูผิวเผิน คล้ายๆบึ้งสีน้ำตาล แต่มีขนาดเล็กน่าจะเป็นลูกบึ้งมากกว่าผมนึกอยู่ในใจ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ลักษณะโครงสร้างของสัดส่วนต่างๆของบึ้งแคระมีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างจากบึ้งสีน้ำตาลอย่างเห็นได้ชัดเจน น้าหมูยืนยันแน่นอนว่าเป็นบึ้งแคระที่อยู่ในสกุล Phlogiellus หลังจากที่เก็บตัวอย่างเจ้าบึ้งแคระสองตัวนี้นำไปวิเคราะห์ในห้องแล็ปอย่างละเอียดพร้อมคำยืนยันว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่เคยพบในภาคเหนือและภาคอื่นๆในประเทศไทย ถามว่ามันมีวงจรชีวิตยาวนานเหมือนบึ้งตัวโตมั้ย มีพิษมากน้อยแค่ไหน คำตอบก็ยังคงไม่มีเพราะยังไม่มีรายงานการศึกษาบึ้งแคระชนิดนี้ แต่ทราบว่าตัวแรกจากใต้ก้อนหินเป็นตัวผู้ ตัวที่สองเป็นตัวเมีย คือการยืนยันการจำแนกเพศและชนิดจากวิธีการที่ซับซ้อนและแม่นยำในห้องแลป ความรู้จากพื้นถิ่นอาจเข้าใจได้ว่าเป็นลูกบึ้ง คงเพราะโอกาสที่จะทำความรู้จักกับบึ้งแคระมีไม่มากนัก บึ้งแคระมีโอกาศให้มนุษย์จับต้องได้ยากมากกว่าบึ้งตัวโตที่มักเผลอออกมาวิ่งไล่จับเหยื่อให้มนุษย์เห็นและจับกินมากกว่า เรื่องราวของบึ้งแคระในประเทศไทยจึงอยู่ในมุมใต้ก้อนหินมานาน 

บึ้งแคระ เป็นบึ้งในสกุล Phlogiellus ถูกจับวางบนดอกเห็ดถ้วยแชมเปญ
ดล ไอโฟน เห็ดถ้วยแชมเปญ

          น้าหมู บรรจงวางบึ้งแคระสองตัวลงบนดอกเห็ดแชมเปญที่ขึ้นอยู่ประปราย เพื่อแสดงให้เห็นขนาดเปรียบเทียบ(ดอกเห็ดคล้ายถ้วยแชมเปญ ขนาด 0.5-3.5 เซนติเมตร ถ้วยมีสีส้มอมชมพู) เป็นภาพบันทึกที่ราวกับจะบอกว่าเรากำลังได้กลับไปสู่ดินแดนแห่งเทพนิยายในหมู่บ้านชาวฮอบบิตที่มีสิ่งมีชีวิตขนาดย่อส่วนและมีสิ่งมหัศจรรย์อยู่ในนั้นมากมาย นอกจากนี้เรายังพบแมงมุมอีกหลายชนิดโดยเฉพาะพวกFishing spider แมงมุมอยู่ในวงศ์ Pisauridae พวกพเนจร แมงมุมอยู่ในวงศ์ Sparassidae ทั้งสองชอบหากินจับเหยื่อริมน้ำ แมงมุมกระโดดอยู่ในวงศ์ Salticidae ชักใยเป็นแผ่นบนต้นไม้ และแมงมุมตาหกเหลี่ยม หรือ Linx Spider เป็นแมงมุมในวงศ์ Oxyopidae เป็นต้น แมงมุมเหล่านี้ต่างทำหน้าที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อาหารที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแมลงในระบบนิเวศน์ของป่าน้ำตกโกรกอีดก เพียงแต่ว่าการศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแมงมุมยังมีอยู่น้อยมากสำหรับเมืองไทย ภาพรวมของแมงมุมจึงไม่ค่อยชัดนัก

 แมงมุมพวกฟิชชิ่งสไปเดอร์ อยู่ในวงศ์ Pisauridae
หน้าหมูกำลังส่องดูใยและตัวแมงมุมบนต้นไม้

  1. แมงมุมพเนจร อยู่ในวงศ์ Sparassidae

ดลจับงูให้พี่ช่อถ่ายรูป

 แมงมุมกระโดด(มุมมองด้านหลัง)อยู่ในวงศ์ Salticidae

ใยที่ขึงไว้เป็นแผ่นบางๆมีแมงมุมกระโดดอยู่ข้างใต้

งูเขียวหางไหม้ มีพิษอันตราย
 แมงมุมตาหกเหลี่ยม Linx Spider อยู่ในวงศ์ Oxyopidae 


สรรพชีวิตยังอาศัยความสมบูรณ์เขียวชอุ่มจากที่นี่ ตั๊กแตนตัวเล็ก

 แมงมุมพวกฟิชชิ่งสไปเดอร์ อุ้มไข่

แมงป่องน้ำ

          บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติโกรกอีดกเป็นชายป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากจากการที่ได้มาสำรวจแมงมุมกับน้าหมูครั้งนี้ ทำให้เห็นความมหัศจรรย์ที่ซับซ้อนของธรรมชาติมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลแมงมุมในชั้นแรกก็ตาม ขณะที่เราเสร็จภาระกิจกลับออกไป น้าเกรียงก็กำลังเดินทางเข้ามายัง ณ.ที่นี้เช่นกัน เพื่อทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจใหม่ให้กับ เด็กๆ พ่อแม่และครอบครัว เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ระบบธรรมชาติที่นี่เป็นฐานความเข้าใจที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดและเห็นคุณค่าแก่การดำรงอยู่ของสรรพชีวิตร่วมกันอย่างยั่งยืน





วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

Daydream 2004 ฝันกลางวัน ๒๕๔๗



ภาพบันทึกสภาวะเฉพาะที่มีต่อช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของวิกฤติการณ์  บนเส้นเวลาปรากฏการณ์ที่มี กาละ เทศะ แตกต่างกัน ถูกไหลรวมมาบรรจบกันเป็นภาพเสมือนที่ถูกบันทึกตัดต่อให้มีผลสอดรับและคล้องจองต่อวิกฤติการณ์ร่วมกัน  โดยมีผู้รับรู้เหตุการณ์อยู่ในสภาวะคล้ายประสบการณ์ฝันกลางวัน

ฝันกลางวันมักถูกตีความให้ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่ สภาวะเฉพาะที่ว่านี้ คือฝันกลางวันที่มีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้น เป็นนัยยะที่ย้อนแย้งต่อเส้นเวลาปกติ และถูกจำลองบนพื้นที่ปรากฏการณ์ที่ต่างวาระกัน โดยมีบริบทของวิกฤติการณ์โลกที่กำลังเคลื่อนไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญเดียวกัน  

ฝันกลางวันยังคงสะท้อนภาพบันทึกของความเป็นจริง จากอดีตและอนาคตของโลกปัจจุบัน  แม้ว่าจะถูกบิดเบือนเคลื่อนย้ายไปจากเส้นเวลาจริงแล้วก็ตาม เพียงเพื่อให้รับรู้ได้ว่าโลกเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติร่วมกัน

Daydream @ bann namkem 2004_ ฝันกลางวัน ณ.บ้านน้ำเค็ม2004
: ภาพบันทึกตัดต่อ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม หลังวิกฤติการณ์ สึนามิ 2004  กับ “ลุงแช” บนเก้าอี้ไม้แกะสลัก ณ.หมู่บ้านผาสุก
Daydream @ The end of Pattanakarn65.rd_ฝันกลางวัน ณ.ปลายสุดถนนพัฒนาการ 65
:
ภาพบันทึกตัวเอง ที่ถนนพัฒนาการ ก่อนเหตุการณ์สึนามิ



ภาพถ่ายดอกมา_เป็นบันทึกภาพเสมือนระหว่างจินตนาการการรับรู้และการบันทึกเสี้ยวเวลาของปรากฏการณ์ในมุมมองส่วนตัวของผมจึงมีกระบวนการบันทึกสภาวะเฉพาะ เอาไว้....


ก้นบึ้งถึงฉากหลัง_หลังเหตุการณ์สึนามิ ๒๕๔๗

หลายปีก่อนที่จะถึงยุคดิจิตอลเต็มใบ ขณะที่โลกยังไม่สื่อสารกันรวดเร็วแบบถึงตัวเหมือนทุกวันนี้ ย้อนไปสังเกตการณ์ตามเส้นเวลาของสถานการณ์โลกและประเทศไทยสักนิดนึง  ก่อนปีสองพัน เราประสบพบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤติกระเพื่อมทางสังคม แต่ก็ปลุกให้เราตื่นจากข้อมูลก้อนหิน  ชุดความเชื่อเดิมๆ  ทำให้มารู้สึกรู้ตัวกันว่าจะต้องมีการปรับตัวและวิถีชีวิต ให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงไปของบริบทโลกที่กำลังเคลื่อนไปตามเอ็นโทรปี  เป็นผลพวงที่ได้รับผลกระทบไปสู่ระบบธรรมชาติ
Daydream @The remains 2004 _ ฝันกลางวัน ณ.เท่าที่เหลือ 2004
: ภาพบันทึกตัดต่อ ณ. บ้านพักตากอากาศที่เขาหลัก หลังวิกฤติการณ์ สึนามิ 2004 กับ”ลุงแช”โพสต์ท่าอุ้มตุ๊กตาหมีที่เก็บได้ ณ.หมู่บ้านผาสุก


Daydream @ Pattanakarn Field_ฝันกลางวัน ณ ทุ่งพัฒนาการ
: ภาพบันทึก ลุงแชร์และน้องแดน ที่ทุ่งพัฒนาการก่อนเหตุการณ์สึนามิ

จุดเปลี่ยน กระบวนทัศน์ใหม่ต่อโลกของเรากำลังสำแดงตัว จนมาถึงปีคศ.2000 ต่างทำนายและจินตสังเคราะห์ถึงวิกฤติวันสิ้นโลก ช่วงเวลานั้นภาพจินตนาการของฉากตอนหลังวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญต่อโลกเป็นแรงบันดาลใจต่อผมเป็นอย่างมาก มันสำคัญต่อการรับรู้ภายในของผม คุณค่าทางสุนทรีย์มีความงดงามอยู่ในเสี้ยววินาทีเหล่านั้น เป็นบทเรียนสำคัญให้กับสรรพชีวิตทั้งการทำลายล้างและการสร้างสรรค์ใหม่ เป็นการเปลี่ยนผ่านของระบบธรรมชาติที่รวมไปถึง มิติการรับรู้ ความเชื่อ การค้นพบใหม่ และระบบอำนาจ การเมืองเศรษฐกิจ และระบบสังคม หากเป็นจริงขึ้นมาได้

ความเชื่อและความไม่แน่นอน ยังคงอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในสรรพสิ่งเสมอ  ตราบใดที่มีเส้นเวลาให้ดำเนินไป แม้ว่าจะดูเหมือนห่างไกลจากตัวเรา แต่ก็ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที 

หลังปีคศ. 2000 เรารู้จัก แผ่นดินไหว มากกว่า สึนามิ ทั้งที่ประเทศไทยส่วนหนึ่งเป็นแผ่นดินที่ยื่นออกไปในทะเล แต่เรารู้จัก สึนามิ น้อยมาก เรามีข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับรอยเลื่อนก็จริง  แต่ผมมักจะนึกภาพไม่ออกถ้าจะอ้างอิงถึงความสำคัญของRing of Fire เส้นเกือกม้าแนวภูเขาไฟใต้แปซิฟิกที่เป็นต้นตอของแผ่นดินไหวในโลกถึง90เปอร์เซ็นต์ ผมจึงปักใจเชื่อว่า สึนามิไม่น่าเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย  มักจะเกิดแถบหมู่เกาะด้านแปซิฟิค หรือประเทศญิปุ่น ซึ่งเคยเกิดสึนามิขึ้นมาแล้วเท่านั้น

Daydream @ Koa Lak 2004_ฝันกลางวัน ณ.เขาหลัก2004
: ภาพบันทึกตัดต่อ  รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เขาหลัก หลังวิกฤติการณ์ สึนามิ 2004 กับ”ลุงแช” บนโซฟาที่ถูกทิ้งร้าง ณ.ทุ่งพัฒนาการ

5)Daydream @ Wetland_ฝันกลางวัน ณ.พื้นที่ชุ่มน้ำ
:
ภาพบันทึก ลุงแชร์บนพื้นที่น้ำท่วมถึงที่ถนนพัฒนาการ65 ก่อนเหตุการณ์สึนามิ












ลางบอกเหตุ คำทำนาย จินตนาการหรือความฝัน

นับตั้งแต่ครั้งวิกฤตินิวเคลียร์ ฮิโรชิมาและนางาซากิ หลังวิกฤติการมีสภาวะเฉพาะที่มีต่อการรับรู้ปรากฏการณ์ ทางสังคม รรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่มีมนุษย์เป็นตัวตั้ง คำทำนาย รหัสนัยยะ หรือลางบอกเหตุ มีที่มาบันทึกจากปรากฏการณ์จริงเสมอ เว้นเสียแต่ไม่สามารถล่วงรู้เวลาจริงของเหตุการณ์ได้ มีการถอดรหัสจากหนังสือ วิวรณ์ ในคัมภีร์ไบเบิ้ล โดยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่เกี่ยวกับ การเกิดวิกฤติการณ์ในอนาคตของโลกไว้มากมาย

หนังสือวิวรณ์ แปลว่า การเปิดเผย” มาจากคำภาษากรีก อะพอคาลิปส์ หนังสือวิวรณ์เปิดเผยความลับที่คนเราไม่เข้าใจมาเป็นพัน ๆ ปีและบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีคำพยากรณ์อีกหลายข้อที่จะต้องเกิดขึ้นตามที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้

จากเรือโนอาห์ถึงแอตแลนติส มีที่มาและเหตุการณ์บันทึกถึงช่วงเวลาก่อนคริสตศักราชประมาณ 1650 ปี มีเหตุการณ์คลื่นสึนามิจากภูเขาไฟระเบิดในเกาะซานโตรินี่ (Santorini) ถล่มชายฝั่งด้านเหนือของเกาะครีต ทำลายแนวป่า โมนิอัน หายวับไปกับตา คาดกันว่าสึนามิ"ซานโตรินี่" คือแหล่งข้อมูลสำคัญที่ทำให้เพลโต (Plato) เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนวรรณกรรมเป็นนวนิยายดังเรื่อง แอตแลนติส (Atlantis)  และยังมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า คลื่นสึนามิ ซานโตรินี่ ที่เกิดขึ้นครั้งนี้คือแหล่งที่มาสำคัญที่นำไปสู่การบันทึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ เหตุการณ์น้ำท่วมโลก (Great Flood)ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทั้งของชาวยิว คริสเตียน และชาวอิสลาม  


สภาวะเฉพาะ...ของเหตุการณ์สึนามิรวมถึงคำทำนายในคัมภีร์และดินแดนแอตแลนติส กลายเป็นข้อมูลหลอมรวมกันภายใต้ประสบการณ์การรับรู้ของผม สภาวะหลังสึนามิ2547 มีจินตนาการร่วมกัน ไม่คาดฝันแต่เป็นจริง  เมื่อสภาวแวดล้อมโลกปัจจุบัน กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติอยู่ใกล้ตัวเราทุกหนแห่ง  หลังจากเว้นว่างความถี่มาหลายสิบปี ลอยเลื่อน และแกนโลกที่กำลังปรับตัว เป็นปกติของความเปลี่ยนแปลงเร่งตัวมากขึ้น มีผู้ประสบชะตากรรมในครั้งนี้ถึงสองแสนกว่าคนนับว่าเป็นครั้งที่ร้ายแรงเสียชีวิตมากที่สุด   หลังจากนั้นอีกไม่นาน ในปี 2554 เกิดเหตูกาณ์สึนามิ ชายฝั่งโทโฮะกุ ประเทศญิปุ่น คลื่นยักษ์พัดเข้าถึงแผ่นดินถึง สิบสี่ กม. ส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูจิมะไดอิชิ เสียหายอย่างหนักและแพร่กระจายกัมมันตภาพรังสี  ส่งผลเสียหายมากเป็นครั้งประวัติศาสตร์เช่นกัน 

กุญแจสำคัญ ของสภาวะเฉพาะก็คือ ณ.เวลาปัจจุบัน ปี พ.ศ.2558 ผมไม่ต้องจินตนาการเหตุการณ์ วิกฤติการณ์โลกที่เกิดขึ้นและนับต่อจากนี้อีกต่อไป ภาพเหตุการณ์ทั้งขณะทำลายล้างและหลัง มีให้สัมผัสในทุกมุมมองเท่าที่จะบันทึกได้ เป็นความงดงามของเสี้ยวเวลาที่ร้อยเรียงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้ๆตัวเราผ่านโลกดิจิตอลยุคปลายนิ้วเขี่ยนี่เอง

วิกฤติการณ์ภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องใกล้ตัว มีความถี่เป็นปกติชีวิตประจำวัน และความรุนแรงมากขึ้นทุกที
ภาวะวิกฤติเป็นปกติ เราต้อนรับปรับตัวให้พร้อมในการเผชิญการสูญเสีย  เป็นการรื้อถอนคอมฟอร์ทโซนที่เกินจำเป็นออกจากวิถีชีวิต 
 (6/9/2558)




ลุงแชร์ และ ทุ่งพัฒนาการ  
"แล้วแต่ อัลเลาะห์" เป็นคำตอบที่ผมได้ยินเสมอจากปากลุงแชร์บ่อยๆ ตอนที่แกรับจ้างทำสวนกวาดใบไม้ ตามบ้านในหมู่บ้านผาสุก เมื่อได้รับคำถามถึงสาระสุขดิบของตัวลุง  จนกระทั่งในช่วงปลายๆที่แกเริ่มทำงานไม่ไหว ผมยังชวนแกไปทำงานภาพถ่ายอยู่เสมอ แกดำเนินชีวิตไปด้วยงานที่เคยทำจนถึงวันที่แกทำงานไม่ได้  ปัจจุบัน ลุงแชร์ยังมีชีวิตอยู่ด้วยดวงตาข้างเดียวที่มองเห็นลางๆ หูได้ยิน10เปอร์เซ็นต์ ด้วยวัยอายุ 95 ในความดูแลของลูกหลาน บนผืนแผ่นดินที่เหลืออยู่ของแกเองไม่เกิน 20 ตรว. ในชุมชนแออัดริมคลองศาลาลอย ในวันที่ทักทายและลาจากกัน  "รอให้อัลเลาะห์มารับไป"เป็นคำตอบสนทนาที่เราได้ถามไถ่สาระสุกดิบกันอีกครั้ง


ภาพของลุงแชร์ และทุ่งพัฒนาการ เป็นเรื่องราวบนเส้นเวลาเดียวกัน ส่วนความฝัน ความเชื่อ อุดมคติและความเป็นไป...มีสภาวะเฉพาะที่คล้องจองกับ ความเป็นไปของโลกซึ่งมีเหตุการณ์สึนามิ2547เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง  ฝันกลางวันจึงถูกเล่าเรื่องให้มีฉากหลังของสองปรากฏการณ์ถูกจับคู่ให้ถูกตีความในสภาวะเฉพาะเดียวกัน










คอยติดตามตอนเพิ่มเติมบันทึกตอนต่อไป