วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปุกปุยแปดขา

Monocentropus balfouri บาล์โฟรี ทารันทูร่าจากเกาะ socotra ปากอ่าวเอเดน
       เรื่องเล่าสิ่งมีชีวิตของแมงมุมแปดขาเคยบอกเล่าความน่าสนใจมาแล้วสองตอน ถึงแม้ว่าแมงมุมยังมีแง่มุมที่ไม่ค่อยมีใครรู้มากนัก แต่ก็ยังคุ้นหูกันมาตั้งแต่วัยเด็กจากบทเพลง "แมงมุมลายตัวนั้น....หรือเพลง"Itsy Bitsy Spider" ที่เป็นทำนองเดียวกัน เรามักจะรู้จักแมงมุมในมุงมองอันน่าสะพึงกลัวของแมงมุมยักษ์ที่หลุดออกมาจากห้องทดลองเริ่มตั้งแต่ภาพยนตร์ขาวดำเรื่อง Talantula ในปี ค..1955 มาจนถึง "ชีล็อบ"แมงมุมยักษ์ในมิดเดิลเอิร์ท จาก ภาพยนตร์ไตรภาคลอร์ดออฟเดอะริงส์ และอีกมากมายหลายเรื่องที่มีแมงมุมยักษ์ออกมาอาละวาด แมงมุมบางชนิดที่ีมีตัวโตขึ้นมาหน่อยจึงให้ความรู้สึกน่ากลัวและเป็นอันตราย ตามความเป็นจริงแล้วเราพบว่ามีแมงมุมพิษร้ายแรงมากอยู่ ๓ ชนิดคือ แม่ม่ายดำ (Latrodecuts mactran) แมงมุมกล้วย Brazilian wandering spider (Phoneutria fera)และแมงมุมใยกรวยซิดนี่ย์ Sydney funnel-web spider ซึ่งต่างก็เป็นแมงมุมขนาดเล็ก

 Poecilotheria metallica  เมทัลลิกา ทารันทูร่ามาจากอินเดีย
Poecilotheria metallica  เมทัลลิกา ด้านใต้ทอง สีสวยสด
แมงมุมโบราณ
          แมงมุมทารันทูร่า(Tarantula)หรือคนไทยเรียกกันว่า "บึ้ง" ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแมงมุมโบราณ อยู่ในอันดับฐาน Mygalomorphae และจัดอยู่ในวงศ์ Theraphosidae เป็นแมงมุมที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคโบราณกว่า 350 ล้านปีมาแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างน้อยมาก ถ้านับจากแมงมุมที่โบราณกว่าเช่นแมงมุมท้องปล้อง นอกจากนี้ทารันทูร่ายังต่างจากแมงมุมกลุ่มทรูสไปเดอร์(True spider)ซึ่งมีพัฒนาการกว่า มีเส้นใยที่ให้คุณสมบัติเหนียว ยืดหยุ่น แข็งแรงมาก และมีรูปแบบโครงสร้างการขึงใยที่ตอบสนองต่อการล่าเหยื่อและการรับรู้ที่ไวต่อการสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้ง มีชุดดวงตาที่สามารถมองเห็นและกะระยะได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

Liphistius sp. แมงมุมโบราณท้องปล้อง โบราณกว่า ทารันทูร่า 

แมงมุมวงศ์ Nemesiidae เป็นกลุ่ม Mygalomorph (กลุ่มแมงมุมโบราณ)ปากรูมีฝาปิดห้มใยไว้

เป็นกลุ่ม Mygalomorph อีกชนิดหนึ่ง
          ในขณะที่ทารันทูร่าเป็นแมงมุมตัวโตที่มีสายตายังไม่ค่อยดีนัก มีเส้นขนที่ปกคลุมทั้งตัว ที่เส้นขนบางจุดสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากโลกภายนอก ขนปุกปุยตามตัวจึงเป็นตัวจับแรงสั่นสะเทือนที่สามารถทำให้รับรู้รอบตัวได้ ทารันทูร่าอาศัยอยู่ทั้งในโพรงดินและตามต้นไม้ซึ่งมักจะเลือกตามซอกหลืบระหว่างกิ่งไม้หรือโพรงไม้โดยมิได้ขึงใยแบบทรูสไปเดอร์ แต่ทารันทูร่าจะสร้างเส้นใยสำหรับฉาบภายในรู ชักใยฉาบโดยรอบจนล้นออกมานอกบริเวณปากรูและบริเวณรอบๆ  ใยของทารันทูร่าจะไม่มีความเหนียวพอที่จะจับเหยื่อได้เลย ใยของมันเหมาะสำหรับป้องกันโพรงดินมิให้พังทลายลงมามากกว่า และช่วยป้องกันมิให้มีสัตว์หรือสิ่งใด ๆ มารบกวน

ใยทารันทูร่าอ่อนนุ่มไม่เหนียว ฉาบปากรู
ดวงตาเล็ก ๘ ตา และขนฟู
ปุกปุยแปดขา
          ทาเลนทูร่า มีลักษณะพิเศษตรงที่มีขนปุกปุยทั่วทั้งตัวรวมถึงสีสันลวดลายที่สดใส เป็นแมงมุมที่มีขนาดใหญ่ ใหญ่โตที่สุดถึง 33 ซม.มีขนาดโดยเฉลี่ย 15 ซม. และมีอายุยาวนานถึง 15-20 ปี ปัจจุบันค้นพบทารันทูร่าแล้วถึง 900 ชนิด สำหรับในเมืองไทยมีทาลันทูร่าที่เรียกกันว่า "บึ้ง" ค้นพบแล้วทั้งหมด 16 ชนิด แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ ๗ ชนิด เท่าที่พบเจอกันบ่อยและรู้จักชื่อกันมาเช่น บึ้งดำ บึ้งสีน้ำเงิน บึ้งลาย และบึ้งสีน้ำตาล และยังมีบึ้งอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้มีการค้นพบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย
 
น้าหมูกับกล่องเลี้ยงทารันทูรา
ใยแมงมุมกลุ่มทรูสไปเดอร์จะเหนียวแข็งแรงมาก

มนุษย์แมงมุม
          ตอนที่ผมได้เริ่มเชื่อมต่อข้อมูลแมงมุมที่น่าสนใจบนโลกออนไลน์ เป็นจังหวะเวลาพอดีได้เจอกับมนุษย์แมงมุมที่คอยตอบคำถามสารพัดเกี่ยวกับแมงมุม จนได้มีโอกาศไปพบปะพูดคุยขอข้อมูลแมงมุมโดยตรงโดยเฉพาะเรื่องของแมงมุมทารันทูร่าตัวเป็นๆหลายชนิดรวมถึงบึ้ง ทารันทูร่าของไทยด้วย
          มนุษย์แมงมุมที่ว่านี้ก็คงไม่ใช่"สไปเดอร์แมน" ฮีโร่ในภาพยนตร์ดัง แต่เป็นมนุษย์สำรวจแมงมุมธรรมดาคนหนึ่ง "น้าหมู" เชาวลิต ส่งแสงโชติ .....จากนักเลี้ยงแมงมุม นักค้าแมงมุม และได้ก้าวเข้ามาในแวดวงวิชาการ อาจมีหลายคนคิดว่าเป็นการใช้โอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากรหรือเปล่าไม่มีใครทราบได้........"ผมไม่ได้จบปริญญาด้านชีววิทยามา ไม่ได้จบสัตวิทยามา ไม่ได้จบอะไรที่เกี่ยวข้องกับพืชหรือสัตว์เลยแม้แต่น้อย....ชีววิทยาเป็นสิ่งที่ผมชอบมาตั้งแต่เป็นเด็ก แล้วทำไมผมไม่เรียน? คำถามนั้นผมตอบได้แต่มันจะสำคัญอะไรในเมื่อผมกลับไปแก้ไขอะไรมันไม่ได้"....ตัดตอนคำบอกเล่าจากภูมิหลังบางส่วนของน้าหมูแล้วเราได้มานั่งคุยกัน

น้าหมูกับ เมทัลลิกา
Chilobrachys sp. บึ้งน้ำตาล                  
คุยกับน้าหมู
          "แมงมุมในเมืองไทยมีการศึกษาวิจัยน้อยมากครับ ที่กำลังทำการศึกษาวิจัยอยู่ในระดับปริญญาโทถึงปริญาเอกเอกตอนนี้มีอยู่ ๖คน เท่าที่ผมทราบนะครับ กลุ่มนี้อยู่ในแวดวงวิชาการนอกนั้นผมไม่แน่ใจ  ซึ่งงานวิจัยก็จะเป็นเรื่องแมงมุมกับระบบนิเวศน์ในนาข้าว การสำรวจความหลากหลายของแมงมุมในประเทศไทยและที่ทำเรื่อง บึ้ง หรือทารันทูร่าไทย ก็จะเป็นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯซึ่งผมมีส่วนกระตุ้นน้องๆให้เค้าทำวิจัยเรื่องบึ้งของไทย" น้าหมูเริ่มเล่าถึงภาพรวมสถานะการณ์การศึกษา แมงมุมและบึ้งของไทย

Chilobrachys sp. บึ้งน้ำตาล
  Ornithoctonus aureotibialis บึ้งแข้งทอง    
          ทารันทูร่าเป็นสัตว์เลี้ยงประเภทแปลก มีคนชอบเอามาไต่ตามตัวตามมือน้าหมูคิดเห็นยังไง? "ผมกำลังจะบอกว่ามันไม่ควรจะทำอย่างนั้น จริงๆมันก็กัดคุณได้แต่พิษมันไม่ถึงตายหรอก มันอาจจะเป็นการส่งเสริมให้คนแห่มาเลี้ยงสัตว์แปลกพิเศษมากขึ้นเพราะมันเรียกร้องความสนใจได้ดีสำหรับวัยรุ่นด้วยกัน  แทนที่จะเป็นการลักลอบจับสัตว์ป่าคุ้มครองมาเลี้ยง แต่ที่สำคัญถ้ามันหลุดหรือคุณปล่อยทิ้งเข้าไปสู่ระบบธรรมชาติมันก็จะเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ย์ซึ่งมีผลกระทบที่เราคาดการณ์ไม่ได้เลย  มันเป็นเส้นบางๆอยู่ระหว่างสิ่งเหล่านี้ เพราะเอ็กโซติคเพ็ทก็นำเข้าอย่างถูกกฏหมายและบางชนิดเพาะพันธ์เองได้ด้วย ทารันทูร่าจากประเทศต่างๆ มีสีสันสวยงามหลากหลายคนจึงอยากเลี้ยงและมีไว้ครอบครอง บึ้งไทยก็มีสีสวยงามเช่นบึ้งสีน้ำเงิน และบึ้งตัวโตสีน้ำตาล ผมเคยเจอบึ้งสีน้ำตาลขนาดถึงเจ็ดนิ้ว" แล้วในระบบนิเวศน์"บึ้ง" มีบทบาทยังไงบ้าง ? "เป็นที่รู้กันดีนะครับว่าแมงมุมเป็นน้กล่าแมลง คอยควบคุมปริมาณประชากรแมลง บึ้งแมงมุมตัวโตก็กำจัดแมลงตัวโตไงครับ อย่างตั้กกะแตนปาทังก้าตัวใหญ่ๆ บึ้งกินได้หมด มันกินได้แม้กระทั่งสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กๆ กิ้งก่า จิ้งจกหรืองูตัวเล็กๆ ถ้าเข้ามาในรัศมีมันจะกินหมด ที่เราต้องศึกษาบึ้งเพราะพื้นที่ถูกบุกรุกและที่สำคัญมีการใช้สารเคมีมาก กว่าที่เราจะเห็นตัวโตได้ขนาดนี้ใช้เวลาสี่ห้าปีนะครับไม่ง่ายเลย บึ้งไข่ทีละร้อยกว่าถึงสามร้อยเท่าผมเคยเจอ แต่กว่าจะโตรอดมาได้สักกี่ตัว บึ้งตัวเล็กๆเป็นอาหารของสัตว์อื่นได้ง่ายเช่นกัน คนไทยก็กินบึ้ง จับมาย่างแล้วก็ตำทำน้ำพริก ผมเคยกิน อร่อยมากรสชาติเหมือนกุ้งเลย ทางอีสานจะกินกันเป็นปกติ" เป็นเพียงบางส่วนจากการได้พูดคุยกับน้าหมูเรื่องบึ้งและแมงมุม
Latrodectus geometricus แม่ม่ายสีน้ำตาล      
          ปัจจุบันน้าหมู ร่วมงานวิจัยและตีพิมพ์ กับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยา ชีววิทยาของผึ้ง ความหลากหลายทางชีววิทยาของแมลงและไร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภาระกิจสำรวจและค้นหาแมงมุมชนิดใหม่โดยเฉพาะกลุ่มแมงมุมโบราณ(Mygalomorph) ก่อตั้ง Spider Planet.com รวบรวมข้อมูลแมงมุม โดยหวังว่าจะให้แรงบันดาลใจและความเข้าใจในแมงมุมมากขึ้น และกำลังทำโครงการ"มอบกล้องให้น้อง ส่องอนาคต" ให้กับ รร.ในต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัด สร้างนิสัยเรียนรู้วิทยาศาสตร์และปลูกฝังให้เด็กๆและเยาวชนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์แมงมุมและระบบนิเวศของเรา ว่าแล้วต้องหาโอกาศไปสำรวจแมงมุมกับน้าหมูให้ได้อีกสักครั้ง