วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การรอคอยนักปลูกป่า

ของแถมชิ้นสำคัญสำหรับเด็กๆที่จะได้รับจากห้องเรียนธรรมชาติ คือการรอคอย การได้หยุด คิด ฟังและสังเกตุสรรพสิ่งรอบตัว เป็นศิลปะของทักษะชีวิต การเฝ้าศึกษาพฤติกรรมนกเงือกจึงถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่จะฝึกความอดทนในการรอคอย โดยมีเป้าหมายแรงบันดาลใจจากนกเงือกตัวโต ต้นแบบนักปลูกป่าที่ทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ใหญ่หลายชนิดที่เป็นเสาหลักสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของป่าที่สมบูรณ์ เด็กๆสามารถติดตามสังเกตการณ์ศึกษา พฤติกรรม วงจรชีวิต การจับคู่ การเลี้ยงลูกและการรวมฝูง จากองค์ความรู้ที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกได้รวบรวมเอาไว้ ซึ่งเราจะได้เห็นภาพรวมที่โยงใยความสำคัญของนกเงือกที่มีต่อระบบนิเวศน์ในธรรมชาติได้ด้วยประสบการณ์ตรง
ในบังไพร
ย้อนเวลากลับไปในวัยเด็กเล็กของดลและแดน ในตอนที่มีประสบการณ์การรอคอยอยู่น้อยนิด จึงเป็นข้อกังวลสำหรับพ่อแม่หลังจากได้รับการชักชวนจาก คุณยายพิไลเพื่อไปดูนกเงือกกับทีมวิจัยนกเงือกที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่จำกัดที่เราเรียกว่า "บังไพร" ซุ้มคล้ายเต็นท์ที่พรางตัวภายนอกให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมกลางป่าเขาใหญ่ หากต้องการจะเห็นพ่อนกเงือกป้อนอาหารที่โพรงรังบนต้นไม้ใหญ่ คงต้องใช้เวลาอยู่กับความเงียบนานนับชั่วโมงเพื่อรอคอยเฝ้าดู เพราะนกเงือกเป็นนกที่ระวังตัวและฉลาดมาก ประสบการณ์ในบังไพรครั้งแรกกับลูกๆสองคน แม่หน่อยจึงเตรียมพร้อมอุปกรณ์เผื่อการรอคอยทั้ง ขนม ขบเขี้ยว หนังสือเด็กและสมุดวาดรูป ซึ่งปรากฏว่านับตั้งแต่นาทีที่เรามุดเข้าไปอยู่ในบังไพรกับคุณยายพิไลและทีมวิจัยนกเงือก(อากาหลิบและอาอ็อด) เด็กสองคนต่างต้องส่งเสียงสื่อสารกันแบบเบาที่สุด เผื่อการรับฟังเสียงภายนอกด้วย เด็กๆจะตั้งใจฟังเรื่องราวนกเงือกและรอคอยด้วยใจจดจ่อไปด้วย บางช่วงเวลาที่เราต่างหยุดเงียบสนิท ตั้งใจเงี่ยหูฟังหวังว่าจะเป็นนกเงือกบินมาเกาะหน้าโพรงรัง ทำให้ดลและแดนกลับพบว่ารอบบังไพรเต็มไปด้วยนกนานาชนิด ซึ่งคุณยายพิไลจะช่วยจำแนกชื่อจากเสียงร้องได้อย่างน่ามหัศจรรย์ การรอคอยในบังไพรจึงกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกหัดฟัง ตั้งแต่คนรอบข้าง สิ่งรอบตัว รวมถึงภายในตัวเอง เป็นประสบการณ์ของช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะเนิ่นนานแต่ก็น่าตื่นเต้นสำหรับเด็กๆ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยที่เตรียมมามากนัก

คุณแม่แห่งนกเงือก
.คร. พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้ศึกษาวิจัยและก่อตั้ง มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกซึ่งผูกพันกับงานอนุรักษ์นกเงือกมานานกว่ายี่สิบปี เปรียบเหมือนแม่ที่คอยดูแลปกป้องนกเงือก ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ถึง ๑๓ ชนิด และสำหรับดลและแดนนั้นการได้ไปเรียนรู้ธรรมชาติกับคุณยายพิไลก็ยิ่งนับว่าเป็นโอกาศดีมากๆในชีวิต การถ่ายทอดประสบการณ์ของคุณยายพิไล จึงถือเป็นรอยประทับที่สำคัญให้กับเด็กๆ "หลายๆครั้งที่ยายต้องรอคอยอยู่ในบังไพรทั้งวัน โดยไม่เห็นนกเงือกซักตัวเลยก็มี" คุณยายเตือนใจเด็กๆก่อนที่จะพาลัดเลาะออกนอกเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อไปสู่จุดบังไพรที่ไม่ห่างจากโพรงรังต้นยางมากนัก ระหว่างทางที่เราก้าวเดินไปคุณยายพิไล จะพาดลแดนให้รู้จักสังเกตุธรรมชาติซึ่งล้วนมีที่มาและความหมายให้เราได้ค้นหาเรียนรู้อย่างไม่รู้จบตั้งแต่ ลูกยาง เห็ด ไลเคน ดอกไม้ ไปจนถึงร่องรอยหมีบนต้นไม้ เรื่องเล่าจากคุณยายพิไลกับประสบการณ์ที่พบเห็นในวันนั้นนับว่ามีคุณค่ายิ่ง ถึงแม้ว่าการไปเฝ้าดูนกเงือกในครั้งนี้จะสัมผัสได้เพียงแค่เสียงกระพือปีกบินวนเวียนอยู่พักเดียว "นกเงือกกรามช้างฉลาดมาก มันคงจะเห็นเราตอนเดินเข้าบังไพรพอดี มันจะรอจนแน่ใจว่าเราได้ออกไปจากบังไพรแล้ว ถึงจะบินเข้าป้อนอาหารหน้าโพรงรัง" อาอ๊อดหนึ่งในทีมวิจัยบอกเล่าให้เด็กๆฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมากในการที่จะไปรบกวนใกล้บริเวณโพรงรังมากเกินไป
ความสุขระหว่างทาง

เมื่อคุณยายพิไลพาไปดูรอยอุ้งเล็บของหมีที่ต้นไม้ ชี้ให้ดูระดับความสูงของรอยตะปบที่วัดจากพื้นดิน แดนตะลึงงันอยู่สักพักใหญ่ คาดคะเนว่าตัวมันจะขนาดไหนและมันน่าจะเป็นหมีชนิดใด เรื่องราวของหมีจึงถูกเล่าขานไปด้วยตลอดทาง ขณะที่ดลมักชอบสังเกตุร่องรอยถูกกัดกินของใบไม้ที่แตกต่างกันระหว่างหนอนและแมลง เดินสำรวจกันไปว่าจะเป็นสิ่งไหนอาศัยอยู่ เมื่อการเริ่มต้นค้นพบระหว่างทางมีการรอคอยให้เราได้ทักทายกับความสุขไปด้วย การเฝ้าดูนกเงือกกับคุณยายพิไลในครั้งนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆให้อยากทำความรู้จักกับสรรพสิ่งและธรรมชาติรอบตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะนกเงือกอีกตั้งสิบสามชนิดในเมืองไทย อาทิเช่น นกชนหินเป็นนกเงือกหน้าตาประหลาด มีโหนกตันที่แตกต่างไปจากนกเงือกชนิดอื่นๆ เวลาทะเลาะกันจะบินเอาโหนกชนกันมีเสียงดังซึ่งดลและแดนยังไม่เคยเห็นจนถึงทุกวันนี้ก็ตาม แต่สำหรับนกกกนกเงือกที่มีตัวโตที่สุดถ้าเปรียบกับนกแก๊กนกเงือกที่เล็กที่สุด ก็จะเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งในการเฝ้าดูศึกษานกเงือกในเวลาต่อมา

        รอยประทับยามเช้าตอนฟ้าสาง ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ระหว่างที่ดลและน้าเกรียงรอบันทึกภาพหน้าโพรงรังนกกก ตอนที่นกกกบินมาเกาะบนคาคบพร้อมนกแก็กที่เกาะอยู่อีกกิ่ง ทั้งคู่รอจังหวะกันอยู่นานมากจนกระทั่งนกแก็กบินจากไป นกกกถึงจะบินเข้าป้อนหน้าโพรงรัง ถือเป็นความงดงามของการรอคอยที่ต่างต้องอาศัยจังหวะจะโคนที่สอดคล้องกันตามธรรมชาติ