วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สำรวจแมลงปอ


ภาพแมลงปอบ้านเสือเขียวเกาะเกี่ยวผสมพันธ์กันและภาพแมลงปอเข็มกำลังเกาะงับจับกินยุงอาจเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากนักหากรู้จักสังเกตุและติดตามดูสรรพสิ่งรอบตัวที่เป็นไป นี่คือวิถีของสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เกิดดำเนินขึ้นอยู่รอบๆตัวเรานี้เอง ภาพบันทึกเหล่านี้เป็นปมดึงดูดการสำรวจสิ่งมีชีวิตเล็กๆในธรรมชาติของวัยเด็ก  เมื่อครั้งที่เด็กๆ เริ่มต่อยอดความสนใจในธรรมชาติจากบรรดาสัตว์หกขาที่เรียกว่าแมลง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีปริมาณและจำนวนชนิดหลากหลายมากที่สุด การทำความรู้จักกับแมลงหลากหลายชนิดจึงถูกแบ่งเป็นกลุ่มชนิดใหญ่ๆ อาทิเช่น ผีเสื้อ ตั๊กแตน ด้วง มวน มด ผึ้ง ต่อแตน ฯลฯ แมลงปอก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะโครงสร้างรูปทรงแตกต่างจากแมลงกลุ่มอื่นๆ แมลงปอหลายชนิดพันธ์มีสีสันหลากหลายแบ่งเป็นสองอันดับย่อยได้สองกลุ่มคือ แมลงปอเข็ม Damselfly และแมลงปอธรรมดา Dragonfly ทั้งสองกลุ่มมีวงจรชีวิตที่เชื่อมต่อกันระหว่างในนำ้บนบกและอากาศ แมลงปอจึงมีเรื่องราวที่น่าติดตามสืบค้นเหมาะสมสำหรับเด็กๆในวัยโตพอที่จะออกสำรวจธรรมชาติ
ปมประสบการณ์
จากเส้นทางปั่นจักรยานที่พ่อพาเด็กสองคนปั่นกันเป็นประจำ ไปจนสุดทางถนนของหมู่บ้านร้าง ลัดเลาะต้นมะขามเทศที่หลงเหลืออยู่ออกไปเจอทางรถไฟสายตะวันออกและจนถึงวันนี้มีรถไฟลอยฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์วิ่งพาดผ่านพาความเจริญรุกคืบเข้ามาอีกครั้ง สภาพแวดล้อมแถวนี้ถึงแม้จะมีซากปรักหักพังจากการสร้างไม่เสร็จและกองขยะประปรายตามสุดทางถนนคอนกรีต แต่ก็ยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้เด็กสองคนเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ตรงข้างทางรถไฟเลียบยาวไปสุดลูกหูลูกตา มีเส้นทางให้ปั่นลัดเลาะตามแนวทางเดินที่ไม่ค่อยมีคนผ่านสัญจรมากนักนอกจากฝูงวัวที่ยังมีคนเลี้ยงอยู่แถวนี้ ไมยราพยักษ์ยังขึ้นรกชันทั้งสองข้างทางเลยมาจนมาถึงบริเวณทางรถไฟมีคูน้ำวิ่งคู่ขนานไปเจอกับคลองเล็กๆข้างหน้า พื้นที่รกร้างเหล่านี้เปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูเมื่อถึงหน้าฝนและเด็กๆก็ได้มีโอกาศเฝ้าสำรวจเรียนรู้ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะเมื่อถึงหน้าฝน มีแหล่งน้ำขังมากมายที่ดลมักเจอแมลงปอ ด้วยความสงสัยว่าทำไมมันชอบบินวนเวียนอยู่แถวแหล่งน้ำ จึงนั่งเฝ้าสังเกตุดูอยู่บ่อยๆ ตามคำบอกเล่าจากน้าเกรียงคุณครูห้องเรียนธรรมชาติของเด็กๆ บอกว่าแมลงปอมักจะบินเอาปลายหางจุ่มหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมสำหรับการวางไข่ แมลงปอวางไข่ในน้ำเติบโตเป็นตัวอ่อนจนถึงเวลาขึ้นมาลอกคาบแปลงกายเป็นแมลงปอ มันคือตัวห้ำแมลงนักล่าที่สามารถไล่จับงับแมลงกินกลางอากาศ ซึ่งเราจะหาโอกาศดูได้ไม่ยากนัก สำคัญตรงที่ดลและแดนยังไม่เคยเห็นเหตุการณ์ตอนแมลงปอไล่งับแมลงกลางอากาศเลยสักครั้งจึงพยายามติดตามดู
ประสบการณ์สำคัญ
เป็นโอกาศสำคัญที่จะได้เห็นโลกธรรมชาติในมิติที่เล็กลงไป เพื่อพบปะกับความมหัศจรรย์ได้มากขึ้น กิจกรรมสำรวจแมลงปอโดยน้าเกรียงและครอบครัวควบกล้ำฯ จึงได้เริ่มกระบวนสำรวจแมลงปอในพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มจากพื้นที่รกร้างหลังบ้านตามแหล่งน้ำขัง คู คลอง หนองบึง ไปจนถึงลำห้วยโกรกอีดก และในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เราพบว่า ณ.รอบๆตัวเราล้วนแล้วแต่มีสิ่งมีชีวิตพึ่งพาอาศัยกันไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นเช่นไร...จากแหล่งนำ้ขังหลังบ้านมีตัวอ่อนแมลงปอบางชนิดอาศัยอยู่ได้ด้วย ดลและแดนทดลองจับใส่โหลมาเลี้ยงศึกษาดูพฤติกรรมการกินอาหารและการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์ Incomplete Metamophosis ไม่เหมือนกับผีเสื้อคือไม่ต้องเข้าดักแด้  การสำรวจของเด็กๆจึงต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตุอย่างต่อเนื่องจึงจะเข้าถึงโลกอันเร้นลับ การบันทึกร่องรอยองค์ความรู้ที่เขาค้นพบสำรวจด้วยตัวเอง จะช่วยให้การสำรวจนั้นเห็นภาพชัดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมากขึ้น เมื่อครั้งที่ตัวอ่อนแมลงปอค่อยๆไต่เกาะกิ่งไม้ขึ้นจากน้ำ พร้อมที่จะแปลงกายลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยซึ่งต้องใช้เวลาที่ยาวนานหลายชั่วโมง แต่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคเมื่อมีความพยายามของมดว่ายนำ้ไต่ข้ามมาเจาะเกาะกินจนตัวอ่อนแมลงปอสิ้นชีวิต เด็กๆมักได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ไม่คาดคิดจากธรรมชาติเสมอ ปมสำคัญของการสำรวจของเด็กๆอาจต้องการแค่ภาพเหตุการณ์ของตัวอ่อนแมลงปอแปลงร่างเป็นตัวเต็มวัยเท่านั้น แต่ผลพวงจากกระบวนการสำรวจมักทำให้เกิดการเรียนรู้ซึมซับความรู้และข้อมูลจากระบบธรรมชาติไปด้วยเสมอ
สื่อบันทึก
ภาพสำคัญและปมประสบการณ์อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้แรงบันดาลใจของเด็กๆและพ่อแม่คุกรุ่นอย่างต่อเนื่องและยาวนานพอที่จะ ซึมซับเรื่องราวธรรมชาติเข้าสู่วิถีชีวิตประจำวัน แม้ว่าความเจริญทางวัตถุจะคืบคลานเข้ามามากยิ่งขึ้นทุกที กลุ่มครอบครัวควบกล้ำฯเล็งเห็นถึงความสำคัญของสื่อบันทึก ร่องรอย ประสบการณ์สำรวจธรรมชาติ จึงได้ช่วยกันรวบรวมเรื่องราว ความรู้แมลงปอ กิจกรรมการสำรวจแมลงปอ รวมทั้งร่องรอยบันทึกของเด็กๆและครอบครัว ไว้ในหนังสือชุดประสบการณ์ห้องเรียนธรรมชาติชื่อ "แมลงปอ ถึงหยดน้ำสุดท้าย" สำหรับท่านที่สนใจจะนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติ สามารถขอรับหนังสือได้โดยเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.doublenature.net/readarticle.php?article_id=22


วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บ้านนกหรือรังนก ?




ร่องรอย เรียนรู้จากภาพถ่ายและบันทึกของดล เมื่อประมาณ๕ปีที่แล้ว ทำให้ผมมองเห็นถึงจินตนาการของเด็กๆ ที่มีต่อโลกธรรมชาติที่ดำเนินไป และเมื่อใดที่การสำรวจเรียนรู้ธรรมชาติด้วยตัวเองได้เริ่มขึ้น การสืบค้นก็จะเดินหน้าและค้นหาคำตอบจากความสงสัย ใคร่รู้ ไขความเข้าใจที่มีต่อโลกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว อย่างเป็นจริงเป็นจังโดยเฉพาะเรื่องราวของนก เด็กๆ มักจะคอยสำรวจสอดส่องมองหาไปทุกซอกมุมของทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในช่วงวัยอยากละเล่นการสำรวจ
                ผู้คนอาจทึกทักและเข้าใจเปรียบเปรยเอาว่ารังนกคือบ้านของนก  เมื่อรังนกเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตามพื้นที่ต่างๆ  ทั้งง่ายดายและยากเย็น บางครั้งจึงถูกรบกวนอย่างจงใจและไม่จงใจคงเพราะเข้าใจว่าเป็นแค่บ้านแหล่งอาศัยของนก  น้าเกรียงและพ่อแม่กลุ่มครอบครัวควบกล้ำฯ จึงวางแผนกิจกรรมเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติด้วยการลงพื้นที่สำรวจศึกษารังนกตั้งแต่รอบๆบ้าน ในเมือง ตามท้องทุ่ง จนถึงในป่าธรรมชาติ เพื่อซึมซับประสบการณ์ทั้งการดูนก วงจรชีวิตและพฤติกรรมของนกแต่ละชนิดอย่างประณีต และถูกวิธี โดยเฉพาะการระมัดระวังมิให้เกิดปรากฏการณ์"นกทิ้งรัง" ทั้งยังช่วยกันถ่ายทำสารคดีให้เป็นเรื่องราวตอน"รังนกใช่บ้านนกจริงหรือ?"พร้อมกันไปด้วย


บันทึกจากแม่ของซี
น้าเกรียง คุณครูห้องเรียนธรรมชาติพาเด็กๆและพ่อแม่ไปสำรวจรังนกชนิดต่างๆ ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่รังนกกระจาบธรรมดา ที่เพชรบุรี นกพญาปากกว้าง ที่แก่งกระจานและที่เขาใหญ่ นกขุนแผน นกจาบคาหัวสีส้ม ที่เขาใหญ่  รังนกกินปลีที่ราชบุรี ทำให้ซีและแม่กั้งได้เรียนรู้ว่ารังนกแท้จริงแล้วมีหลายชนิด หลากหลายรูปแบบ ทั้งบนต้นไม้ ในโพรงไม้ บนดิน และ  แม้กระทั่งในน้ำ ซีเกิดความสนใจเรื่องรังนกมากขึ้น หลังจากได้สำรวจรังนกและพฤติกรรมของนกมาหลายชนิด รังนกที่แม่กั้งและซีประทับใจมากที่สุดก็คือรังนกกระจาบธรรมดา ที่อยู่บนต้นไม้สูง เป็นงานศิลปะที่งดงาม น่าอัศจรรย์ มีความละเอียดประณีต พิถีพิถัน การบรรจงถักทอรังของนกกระจาบตัวผู้ เพื่อดึงดูดตัวเมียให้มาจับคู่กัน นกกระจาบจัดว่าเป็นนกที่มีความเพียรพยายามมาก โดยจะใช้จะงอยปากคาบเส้นหญ้ามาสร้าง สานรัง จนได้ฉายาว่า สถาปนิกนักสร้างรัง

นกนักถักสานทอรัง
รังนกทีถูกถักทอได้อย่างประณีตมหัศจรรย์มากที่สุดในบรรดานกทำรัง  จากการใช้ปากสอดเส้นหญ้าสานไปสานมาอย่างละเอียด ทีละเส้นจนได้ชื่อว่า เป็นนกนักถักสานทอรัง Baya Weaver เป็นชื่อสามัญของนกกระจาบทองธรรมดา แตกต่างกับรังนกกระจาบทอง  Golden weaver ซึ่งเป็นนกนักถักทออีกชนิดนึง ชอบทำรังตามดงหญ้าต้นธูปฤาษี ซึ่งจะสานรังเป็นรูปทรงกลมอย่างหยาบๆ  แตกต่างจากรังนกกระจาบธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด           
                นกกระจาบธรรมดาเป็นนกที่อยู่อาศัยรวมกัน ตามท้องทุ่งโล่งและอยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อถึงฤดูทำรังก็จะทำรังใกล้ๆ กัน 
การอยู่รวมกันก็จะช่วยกันป้องกันภัยอันตรายจากสัตว์ผู้ล่าได้เป็นอย่างดี  รังส่วนมากจะแขวนจากปลายยอดไม้ และมีทางเข้าทางด้านล่าง จะทำให้สัตว์ผู้ล่าไม่สามารถเข้าไปในรังได้ นกกระจาบตัวผู้ จะเริ่มสร้างรัง โดยการจิกฉีกใบต้นหญ้าธูปฤาษี  คาบออกมาเป็นเส้นนำมาพันปลายยอดอ่อนของต้นทำรัง  โน้มปลายยอดเข้าหากิ่ง  และพันสานกัน ให้เป็นวงกลมเล็กๆ และจะค่อยๆ สานถักทออย่างละเอียดจนเป็นรูปโดมที่ใหญ่ขึ้นห้อยจากปลายกิ่งลงมา โดยมีที่เกาะอยู่ด้านล่าง จากนั้นก็จะรอให้ตัวเมียเข้ามาเลือกเกาะ  ถ้านกตัวเมียตกลงเลือกรัง นกตัวผู้ก็จะสานต่อส่วนปลายปล่อง เป็นทางเข้ารังด้านล่างของโดมถือเป็นรังนกกระจาบที่เสร็จสมบูรณ์สำหรับให้ตัวเมียวางไข่ได้

ประสบการณ์ของดล
ตอนที่ผมยังเด็ก เริ่มสนใจดูนกโดยเฉพาะการถ่ายบันทึกภาพนกชนิดต่างๆ ซึ่งตอนนั้นทุกๆสิ่งรอบๆตัวผมดูน่าสนใจไปหมด แม้แต่การเฝ้าดูฝูงนกกระจอกที่บินมาหน้าบ้านหรือนกเขาบนเสาทีวี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจทั้งนั้นสำหรับผม ผมมีความตื่นเต้นและประทับใจมากที่สุดในตอนนั้น คือ เมื่อผมได้เจอรังนกไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหนผมมักจะใช้เวลากับเฝ้าดูมันเป็นอาทิตย์ โดยตื่นแต่เช้ามาเฝ้าและบันทึกภาพเก็บใว้อย่างตื่นตาตื่นใจ ซึ่งการได้เฝ้าดูรังนกของผมนั้นมีสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมประทับใจ เพราะว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตเล็กๆที่ได้เกิดมา พร้อมกับได้เห็นแม่นกดูแลเอาใจใส่ลูกนกอย่างถะนุถนอม  จนบางทีทำให้ผมรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่ ณ เวลานั้นผมคงทำให้ดีที่สุดโดยการเฝ้าดูอยู่ห่างๆ และปล่อยให้นกได้ใช้เวลาเลี้ยงดูลูกของพวกมันต่อไปให้ดีที่สุด...     

แม่หน่อยวาดบันทึก
วันนี้มานั่งปูเสื่ออยู่ข้างปั้มน้ำมันแถวท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี อยู่ครึ่งค่อนวัน เพราะมีโอกาสได้ตามเด็กๆ มาเฝ้านกกระจาบทำรัง..นี่ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ของเราที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ถึงจะเป็นแม่เกิดก่อนลูก ก็ใช่ว่าจะต้องรู้มากกว่าเด็กๆไปทุกเรื่อง บอกตัวเองเลยว่า โชคดีที่เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับลูก ได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ได้ใช้ความอยากรู้อยากเห็น ให้กลายเป็นแรงบันดาลใจ ลงมือทำหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ต้องผลัดไปเหมือนแต่ก่อน ทั้งที่ธรรมชาติรอบตัวเรามีแต่เรื่องมหัศจรรย์รอให้เราตื่นตาตื่นใจเสมอ การได้นั่งวาดรูปวันนี้ก็เช่นกัน...กิ่งต้นสะแกหนึ่งกิ่งใหญ่นี้มีความหมายกับชีวิตของนกกระจาบฝูงนี้มาก...ทึ่งกับภาพตรงหน้าเหล่านกสถาปนิก  กำลังพากเพียรถักทอรัง เรากำลังนิ่งอยู่กับการเก็บรายละเอียดของรังแต่ละรัง ถ่ายทอดลงในสมุดบันทึกที่พกติดตัวมา การได้ใช้เวลาดีๆไม่ต้องจบลงด้วยงานที่เสร็จสมบูรณ์ก็ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพเหล่านี้มันเตือนให้เราได้เห็นว่า ความสุขระหว่างทางเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ...ไม่รู้จบเพราะเราต่างก็ต้องเดินทางกันต่อ..ไป
สำคัญที่รังนก
แม้รังนกเป็นอีกหนึ่งสำคัญของนักดูนก...ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรังนกเปรียบเสมือน วิหารที่ปกป้องการตั้งต้นชีวิต จากไข่สู่ตัวอ่อน โดยมีแม่นกคอยอนุบาลให้แข็งแรงพร้อมพอที่จะโบยบิน แต่ก็เป็นที่หมายปองของสัตว์อื่นๆ หรือแม้กระทั่งมนุษย์เรานี่เอง จะเพื่อความอยู่รอดหรืิอจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ณ.เวลาปัจจุบัน สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลง นกก็ยังทำหน้าที่ในระบบนิเวศน์อยู่เหมือนเดิม ขณะที่จำนวนชนิดการสูญพันธุ์ยังมีมากขึ้น และพื้นที่สีเขียวกำลังร่อยหรอลงทุกที การเรียนรู้เพื่อเข้าใจวงจรชีวิตที่ละเอียดอ่อนของนก ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีสำนึกปกป้อง ดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างจริงจัง